รีเซต

วิพากษ์รัฐนำเข้ากุ้งเอกกวาดอร์-อินเดีย : เพื่อใคร?

วิพากษ์รัฐนำเข้ากุ้งเอกกวาดอร์-อินเดีย : เพื่อใคร?
TNN ช่อง16
7 กันยายน 2565 ( 14:32 )
81
วิพากษ์รัฐนำเข้ากุ้งเอกกวาดอร์-อินเดีย : เพื่อใคร?

เรื่องรัฐบาลเปิดนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์ นำร่องมาชิมลางก่อนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจำนวน 41 ตัน และจะพิจารณานำเข้าจากอินเดียเป็นประเทศต่อไป ให้เกิดข้อวิพากษ์ว่าไทยจำเป็นต้องนำเข้ากุ้งจากทั้งสองประเทศ เพื่อช่วยรักษาตลาดสินค้ากุ้งและสถานะความเป็นผู้นำในเวทีโลกของไทยไว้  หากไม่นำเข้า ไทยจะเสียตลาดไป  เป็นจริงตามนั้นหรือ? เรื่องนี้มีความเห็นต่างเป็น 2 ขั้ว โดยฝ่ายเกษตรกรขอให้ยุตินำเข้าเพราะกังวลผลกระทบในระยะยาวทั้งราคาและเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทย ขณะที่กรมประมง เจ้าของเรื่องออกมาชี้แจงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในมุมของความจำเป็นนำเข้าเพื่อสนับสนุนห้องเย็นแปรรูปเพื่อส่งออก


ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเรื่องนี้ คือ สังคมทราบข่าวจากการนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์ จากสื่อต่างประเทศ Intrafish.com และ Seafoods.com โดยรายงานจากคำกล่าวของรัฐบาลเอกวาดอร์ ว่า ไทยตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ฟาร์มของเอกวาดอร์รวม 36 ฟาร์ม และยกเลิกการห้ามนำเข้ากุ้งเอกวาดอร์ให้ส่งออกไปยังประเทศไทยได้ โดยไทยจะนำเข้าในปริมาณ 10,000 กว่าตัน จนถึงสิ้นปี 2565 ...เกษตรกรหลายคนเพิ่งรับทราบ คนไทยส่วนใหญ่เพิ่งรับรู้ เกิดคำถาม...ไทยเราเป็นผู้ผลิตและขึ้นแท่นยืนหนึ่งผู้ส่งออกของโลกยาวนาน แม้จะเสียแชมป์โลกไปเมื่อไปกี่มานี้ ไฉนต้องนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์ที่รู้กันดีว่าชื่อเสียงเป็นรองเราเข้ามาผลิตเป็นสินค้าแล้วตีตรากุ้งไทยส่งออก


ร้อนถึง กรมประมง ต้องชี้แจงแถลงไขโดยสาระสำคัญอยู่ที่การอนุญาตให้นำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์ หาใช่มติของกรมฯ แต่อย่างใด แต่เป็นมติเอกฉันท์ของคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหากุ้งทะเลทั้งระบบ ประกอบด้วยเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ที่ผนึกกำลังร่วมกันผลักดันการแก้ปัญหาสู่เป้าหมายผลผลิตกุ้ง 400,000 ตัน ในปี 2566 ทั้งนี้คณะกรรมการฯ เห็นพ้องต้องกันให้ห้องเย็นเป็นผู้นำเข้ากุ้ง ภายใต้การกำกับดูแลของกรมประมง

ถึงตรงนี้ เกิดคำถามอีกว่า เหตุใด “ห้องเย็น” จึงได้สิทธิ์นำเข้ากุ้ง เหตุผลหลักเพราะห้องเย็นส่วนใหญ่เป็นผู้แปรรูปเพื่อส่งออกด้วยและน่าจะเป็นผู้เสนอให้ Shrimp Board พิจารณาการนำเข้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้มีวัตถุดิบ “ราคาถูก” ป้อนให้กับโรงงานสามารถเดินเครื่องได้อย่าง “ชอบธรรม” โดยให้เหตุผลว่าวัตถุดิบในประเทศขาดแคลนและราคาสูง ทั้งที่ราคาในประเทศสูงเป็นประโยชน์ของเกษตรกรโดยตรง 100% ...ผลประโยชน์มีฝ่ายใดตั้งข้อสังเกตุหรือไม่


พิจารณาข้อเท็จจริงข้างต้น คนที่ได้ประโยชน์เฉพาะกาลนี้ คือ ห้องเย็น เพราะได้วัตถุดิบราคาถูกจากกุ้งนำเข้า และทำให้โรงงานเดินหน้าผลิตเพื่อส่งออกได้ เร่งทำกำไรช่วงเงินบาทอ่อน และอาจจะซื้อผลผลิตในประเทศน้อยลงเพราะกุ้งนำเข้าราคาเร้าใจกว่า


ยืนที่ปากบ่อของผู้เลี้ยงกุ้ง ความจริง คือ 2 ปีที่ผ่านมา ไทยเจอโรคระบาดกุ้ง ทั้ง โรค NHP โรคตัวแดงตัวขาว (WSD) โรคตัวเหลือง (YHD) โรคขี้ขาว (WFS) และโรคตายด่วน (EMS) ทำให้ผลผลิตเสียหายมากกว่า 50% ทั้งที่เกษตรกรและเอกชนร่วมมือกันหาทางออกแก้ปัญหาเรื่องโรค แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ 100% เพราะขาดงานวิจัยที่ภาครัฐรับปากว่าจะสนับสนุนและหารูปแบบการเลี้ยงกุ้งที่เหมาะสมเพื่อป้องกันโรคมาให้ ก็ยังไม่มีคำตอบออกมาว่าจะกู้วิกฤต “โรคกุ้ง” ที่เป็นรูปธรรมได้อย่างไร

เห็นชัดว่าครั้งนี้ประโยชน์เกิดแก่ผู้ได้รับสิทธิ์นำเข้า แม้แต่เกษตรกรที่นั่งใน Shrimp Board ก็ไม่ได้คัดค้าน...มันแปลกดีนะ...อาจเพราะเกษตรกรที่เป็นกรรมการไม่มีกุ้งอยู่ในมือแล้วด้วยเสียหายจากโรคหมดจึงไม่ได้ไม่เสีย เลยลืมคิดถึงผลกระทบในระยะยาว ทั้งที่คาดการณ์ว่าผลผลิตกุ้งไทยปีนี้จะอยู่ที่ 270,000-280,000 ตัน ขณะที่เป้าหมายของประเทศปีนี้ตั้งไว้ 320,000 ตัน ถ้าเราไปถึงดวงดาวจริงก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้ากุ้ง ควรซื้อในประเทศเพื่อส่งเสริมมูลค่าเพิ่มให้อยู่ในประเทศ แทนการนำเงินตราต่างประเทศใส่พานไปให้เอกวาดอร์ถึงหน้าบาน ซึ่งประเทศคู่แข่งส่งออกกุ้งของไทย และพร้อมเหยียบไทยขึ้นไปแทนตำแหน่งตลอดเวลา


นอกจากนี้ การนำเข้ากุ้งจากเอกกวาดอร์ ยังเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ของเอกวาดอร์ให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกเทียบชั้นกับไทย ที่รัฐบาลของเขาเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาเรื่องโรคระบาด และพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและมีอัตราการรอดของกุ้งสูงมาก ตรงข้ามกับไทยยังย่ำอยู่กับที่ก้าวไปไม่ถึงไหน โรคยังมีผลผลิตต่อไร่ยังต่ำส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งราคาที่สูงขึ้นขณะนี้เป็นเรื่องสมดุลของอุปสงค์-อุปทาน ราคาในประเทศสูงเพราะกุ้งมีน้อย ก็ต้องให้โอกาสเกษตรกรขายของได้ราคาดี เพื่อนำไปต่อทุนเลี้ยงรุ่นต่อไปให้มีอัตราการรอดสูง เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้ตามเป้าหมายของ Shrimp Board


ถึงตรงนี้ น่าจะเห็นภาพชัดเจนว่านำเข้ากุ้งเอกวาดอร์-อินเดีย เพื่อใคร แต่สิ่งสำคัญต้องยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง เพราะภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในเวทีโลกหมายถึงความน่าเชื่อถือเรื่องอาหารปลอดภัยและการนำเข้าเงินตราต่างประเทศ เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของคนในชาติอย่างยั่งยืน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง