รีเซต

เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนฉลองก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนฉลองก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
TNN ช่อง16
28 มิถุนายน 2564 ( 15:00 )
88
เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนฉลองก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ช่วงนี้ใครไปไหนมาไหนในจีน ก็จะเห็นสภาพบ้านเมืองที่ถูกประดับตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง พร้อมกิจกรรมพิเศษฉลองครบรอบ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากมายและกระจายไปทั่วประเทศ เราไปดูกันว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนทำอะไรกันบ้าง ...

ทุกหัวระแหงในจีนต่างถูกประดับตกแต่งด้วยสัญลักษณ์ค้อนเคียว และสัญลักษณ์พิเศษที่ออกแบบขึ้นพิเศษสำหรับโอกาสครบรอบ 100 ปีของพรรคฯ รวมทั้งกิจกรรมที่สุดพิเศษมากมายในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน และคาดว่าจะลากยาวไปจนถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2021 

กรุงปักกิ่งถูกใช้เป็นศูนย์กลางของการจัดกิจกรรมพิเศษต่อเนื่องหลายวัน แม้ว่าเนื้องานในรายละเอียดจะถูกเก็บเป็นความลับ แต่สื่อของจีนก็เปิดเผยข้อมูลเป็นระยะว่า กิจกรรมมากมายจะจัดขึ้นบนแนวคิดหลักว่า “ยืนหยัดในความจริงต่อความมุ่งมั่นเดิม เก็บรักษาภารกิจไว้ในจิตใจอย่างมั่นคง


สนามกีฬาแห่งกรุงปักกิ่ง หรือที่เรารู้จักกันในนามของสนาม “รังนก” (Bird's Nest) ก็ถูกใช้จัดการแสดงพลุชุดพิเศษระหว่างเวลา 20.00-22.00 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยพลุกรุยทางชุดแรกเป็นการแสดงสัญลักษณ์ “100” เพื่อตอกย้ำ 100 ปีของพรรคฯ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องด้วยความดีใจและตื่นตะลึงของผู้คนหลายหมื่นคนที่ไปร่วมเป็นสักขีพยาน

งานใหญ่ที่สุดในปักกิ่งคงหนีไม่พ้น กิจกรรมสุดพิเศษบนถนนฉางอัน (Chang'an Avenue) ในวันที่ 1 กรกฎาคม ในชื่อชุดการแสดงว่า “การเดินทางอันยิ่งใหญ่” (Great Journey) ที่ใช้จำนวนผู้แสดงถึง 14,000 คน ลำดับเรื่องราวนับแต่การก่อตั้งพรรคฯ สงครามการเมือง และการเดินทางไกล (Long March) ที่พรรคฯ ต้องต่อสู้กับพรรคชาตินิยมที่นำโดยเจียง ไคเช็ค ไปจนถึงการเคลื่อนขบวนกองทัพปลดแอกของพรรคฯ เมื่อครั้งเดินทางเข้าปักกิ่งเมื่อราว 70 ปีที่แล้ว ก่อนประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และการปฏิรูปเศรษฐกิจจนก้าวขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลกจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงของการเตรียมงานใหญ่ดังกล่าว ถนนฉางอันและสถานที่ท่องเที่ยวหลักในพื้นที่จัดงาน อาทิ พระราชวังต้องห้าม (Forbidden City) จตุรัสเทียนอันเหมิน (Tiananmen Square) และพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ได้ถูกปิดในบางช่วงเวลามาระยะหนึ่ง และถูกปิดชั่วคราวไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าออกในระหว่าง 23 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 

เพียงการเตรียมการก็บ่งบอกได้ถึงความยิ่งใหญ่อลังการของงานในครั้งนี้กว่ากิจกรรมครั้งใดๆ ที่ผ่านมา รูปภาพใหม่ของเหมา เจ๋อตงถูกแขวนไว้เหนือประตูด้านหน้าของพระราชวังต้องห้าม อัฒจรรย์นั่งจำนวนหลายแถวถูกวางทอดยาว พร้อมเครื่องมือหนักจำนวนมากถูกติดตั้งในบริเวณดังกล่าว 

ธงชาติจีนถูกแขวนตรึงไว้ตามเสาไฟฟ้า และตามสองฟากฝั่งของถนนถูกตกแต่งไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับยาวเหยียดสุดลูกหูลูกตา นอกจากนี้ ด้านตอนเหนือของจตุรัสเทียนอันเหมิน ก็มีแปลงดอกไม้ 10 ประเภทที่ถูกใช้เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวการพัฒนาของพรรคฯ ตลอด 100 ปีที่ผ่านมา และให้ผู้คนได้ไปชื่นชมความงดงามและเก็บภาพเป็นที่ระลึก


นอกจากนี้ พรรคฯ ยังจะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำพรรคการเมืองทั่วโลกแบบไฮบริด ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ ในระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม  กรุงปักกิ่ง ซึ่งหัวหน้าพรรคการเมืองของไทย ทั้งเก่าและใหม่ต่างก็อัดคลิปแสดงความยินดีกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ขณะเดียวกัน เมืองใหญ่ในหลายมณฑล/มหานครอื่นของจีน อาทิ เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน อู่ฮั่น และฉงชิ่ง ต่างถูกเปลี่ยนเป็นป้ายโฆษณาที่เติมเต็มด้วยสาระ คำขวัญ ความสำเร็จของพรรคฯ และอื่นๆ และร่วมจัดกิจกรรมเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดแสดงแสงสีเสียง การแสดงทางวัฒนธรรม และละครการปฏิวัติของจีน 

ยิ่งในเมืองที่เคยเป็นฐานที่มั่นของกองทัพปลดแอก อาทิ ซีป่ายโพ (Xibaipo) มณฑลเหอเป่ยหรือเส้นทางผ่านของการเดินทางไกล และอื่นๆ ก็มีกิจกรรมเฉพาะอย่างต่อเนื่อง เช่น การท่องเที่ยวแดง (Red Tourism) เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาและประชาชนผู้สนใจได้รำลึกและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึงหนึ่งศตวรรษ 


จากสถิติของแพล็ตฟอร์มหลักด้านการท่องเที่ยว พบว่า การท่องเที่ยวแดงในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา จีนมีจำนวนนักท่องเที่ยวแดงมากกว่า 100 ล้านคน

นอกจากนี้ พรรคฯ ยังจัดกิจกรรมการสร้างทีมร่วมกันในหลายเมืองเพื่อสร้างพลังแห่งความสามัคคีของคนในชาติ บางแห่งทำรูปหล่อของประธานเหมา เจ๋อตง และสินค้าเชิงสัญลักษณ์ของพรรคฯ เพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชนเป็นที่ระลึกการเข้าร่วมกิจกรรม

ฮ่องกง ดินแดนนอกแผ่นดินใหญ่ที่กลับคืนสู่มาตุภูมิราว 24 ปี ก็ไม่ยอมน้อยหน้า อาคารสถานที่ถูกประดับตกแต่งด้วยสัญลักษณ์ 100 ปีของพรรคฯ ที่มีตัวเลข 100 เป็นแนวคิดหลักด้วยสีทองบนผืนสีแดง และยังจัดการแสดงทางวัฒนธรรมขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน รวมทั้งเตรียมออกแสตมป์ชุดพิเศษในวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งข่าวว่ากำลังเป็นที่ต้องการของนักสะสมเป็นอย่างมาก

จากข้อมูลของ CCTV ระบุว่า บริการขนส่งสาธารณะ รถบัส 100 คัน และรถมินิบัส 50 คัน และรถราง 8 คัน ก็ถูกห่อหุ้มด้วยสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์ พร้อมข้อมูลประชาสัมพันธ์งานแสงสีเสียงที่อ่าววิกตอเรียระหว่างวันที่ 1-4 กรกฎาคม

นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1921 โดยในครั้งนั้น ผู้เกี่ยวข้องได้จัดประชุมครั้งแรกอย่างลับๆ ในห้องขนาดเพียงไม่กี่คูหา ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้ถูกปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ในบริเวณซินเทียนตี้ ใจกลางเมืองเซี่ยงไฮ้ ที่จัดให้มีพิธีปฏิญาณตนตามหลักการของพรรคฯ

งานนิทรรศการบุปผาชาติจีน หรือ “ไชน่าฟลาวเวอร์เอ๊กซ์โป” (China Flower Expo) ครั้งที่ 10 ที่จัดขึ้นบนพื้นที่ถึง 6,250 ไร่  เกาะฉงหมิง (Chongming) ตอนเหนือของเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม-2 กรกฎาคม เพื่อเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ร่วมฉลองหนึ่งศตวรรษของพรรคฯ และกลายเป็นงานดอกไม้ที่ใหญ่และทรงอิทธิพลมากที่สุดในจีน


สำหรับผมแล้ว ไฮไลต์ของกิจกรรมฉลอง 100 ปีพรรคฯ ที่เซี่ยงไฮ้ก็เห็นจะได้แก่ การจัดแสงสีเสียงที่สุดอลังการเท่าที่เคยมีมา ผู้อ่านหลายท่านอาจได้ชื่นชมในความยิ่งใหญ่ดังกล่าวผ่านคลิปแสงสีเสียงในบริเวณบนสองฟากฝั่งแม่น้ำหวงผู่

การแสดงแสงสีเสียงดังกล่าวเล่าเรื่องราวความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจนับแต่เปิดประเทศผ่านผนังอาคารที่มีสถาปัตยกรรมตะวันตกนับร้อยปีในบริเวณไว่ทัน และอาคารสูงระฟ้าในฝั่งผู่ตง เลเซอร์หลากสีจากยอดอาคารสูงถูกสาดใส่ท้องน้ำและอาคารในเวิ้งนั้นอย่างงดงามเกินบรรยาย 

โดยร้อยเรียงความสำเร็จของพรรคฯ ในการรักษาเสถียรภาพความมั่นคง และพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ยืนยันถึงความสำคัญยิ่งของการดำรงอยู่ของพรรคฯ ต่อการมีจีนใหม่ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชนิด “พลิกฟ้า พลิกแผ่นดิน” ทำให้ชาวจีนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริงและยั่งยืน


นับแต่เปิดประเทศสู่โลกภายนอกครั้งใหม่ พรรคฯ ไม่เคยย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรค และไม่ลืมปณิธานที่เคยตั้งไว้ จีนสามารถสร้าง “ประวัติศาสตร์ใหม่” โดยเปลี่ยนจากยุคสมัยของการ “ไม่พอมี ไม่พอกิน” สู่การ “พอมี พอกิน” ที่แฝงไว้ซึ่งมีความยิ่งใหญ่และทั่วถึง 

เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างที่ไม่เคยมีประเทศใดในโลกทำได้มาก่อน แม้กระทั่งในปี 2020 ที่ประสบวิกฤติโควิด-19 จีนก็เป็นเศรษฐกิจใหญ่เพียงแห่งเดียวในโลกที่เติบโตเป็นบวก ส่งผลให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีนลดเหลือเพียงราว 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่

พรรคฯ ได้พิสูจน์ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็น “สุดยอดแมวที่ใช้จับหนู” ดั่งแนวทางที่เติ้ง เสี่ยวผิง เคยกล่าวไว้ว่า “แมวสีอะไรไม่สำคัญ ขอเพียงให้จับหนูได้เป็นพอ” เมื่อราว 40 ปีก่อนหน้านั้น


จีนทำทุกวิถีทางในการยกระดับขีดความสามารถด้านการผลิต โดยให้ความสำคัญกับด้านนวัตกรรมโดยอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น 

ที่เห็นได้ชัดก็คือ นโยบาย “Made in China 2025” ที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2015 จีนกำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งโลกอนาคตเพื่อหวังใช้เป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศในยุคหน้า อาทิ ไบโอเทค วัสดุใหม่ พลังงานทดแทน รถยนต์พลังงานรูปแบบใหม่ หุ่นยนต์ อินเตอร์เน็ตพลัส ปัญญาประดิษฐ์ พาณิชย์นาวี อวกาศ และอื่นๆ

จีนซื้อและพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า (Maglev) จนสามารถเปิดตัวรถไฟแม่เหล็กไฟฟ้าของจีนเองที่ทำความเร็วถึง 620 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะเดียวกัน จีนก็ใช้เวลาไม่นานในการพัฒนาขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและไร้คนขับในปัจจุบัน

ขณะที่ช่องทางจัดจำหน่ายสมัยใหม่ ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ และลอจิสติกส์ของจีนก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว แตกไลน์ และขยับสู่ด้านออนไลน์ จนกระจายตัวในวงกว้างและสลับซับซ้อนยิ่งในปัจจุบัน รวมทั้ง 

นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สี จิ้นผิง ก็ยังตอกย้ำความก้าวล้ำด้านเทคโนโลยีอวกาศ ด้วยการพูดคุยกับนักบินอวกาศจีนจำนวน 3 คนที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศของจีน 

จีนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคบริการและการเกษตรในระดับที่สูงขึ้น ตลอดจนการสานต่อนโยบายพัฒนาพื้นที่ตอนกลางและตะวันตกของจีน เราจึงเห็นพื้นที่ตอนในของจีนเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในด้านอุปสงค์ จีนยังปรับโครงสร้างโดยหันมาพึ่งพาภาคการบริโภคภายในประเทศ และเดินหน้าสู่กลยุทธ์เศรษฐกิจวงจรคู่ (Dual Circulation Economy) จีนจึงไม่เพียงแต่กำลังยกสถานะสู่การเป็น “ศูนย์กลางการผลิตที่ทันสมัยของโลก” แต่ยังกำลังก้าวขึ้นเป็น “ตลาดของโลก” อีกด้วย


นอกจากนี้ พรรคฯ ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลสากล หนึ่งในก้าวย่างสำคัญก็ได้แก่ การผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินในตะกร้าเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในปี 2016 และการเริ่มทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลในปี 2020 ซึ่งจีนเตรียมเปิดโอกาสให้ต่างชาติได้มีประสบการณ์ในการใช้เงินหยวนดิจิตัลในช่วงที่ปักกิ่งจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวในเดือนกุมภาพันธ์ 2022

ในมิติด้านการเมืองการปกครอง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสารสนเทศคณะรัฐมนตรีจีน (State Council Information Office) ยังได้ตีพิมพ์และแจกจ่ายสมุดปกขาวเรื่อง "ระบบพรรคการเมืองของจีนความร่วมมือและการปรึกษาหารือ” (China's Political Party System: Cooperation and Consultation) ที่อธิบายถึงลักษณะพิเศษและจุดเด่นของระบบพรรคการเมืองของจีนที่เป็นลูกผสมระหว่างทฤษฎีการเมืองของมาร์กซิส และการประยุกต์ใช้ตามสภาพความเป็นจริงในจีน

โดยที่นับแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เป็นเพียงพรรคการเมืองหลักเพียงพรรคเดียว สมุดปกขาวดังกล่าวจึงแสดงถึงความมั่นใจและความสามารถในการปกครองของพรรคฯ ตลอดเวลาที่ผ่านมา

แต่จีนมิได้ต้องการจะส่งออกระบบการเมืองในรูปแบบของจีนให้ประเทศอื่น เพราะจีนตระหนักดีว่า ความสำเร็จในการพัฒนาประเทศที่มาถึงจุดนี้ได้เกิดขึ้นจากการประยุกต์ใช้แนวคิดมาร์กซิสที่สอดรับกับสภาวะแวดล้อมของจีน ดังนั้น แต่ละประเทศจึงต้องการระบบการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง

ในเส้นทางเดินทางไกลสู่อนาคตที่ดูราบรื่นสวยหรู ก็ใช่ว่าทุกสิ่งจะโรยด้วยกลีบกุหลาบไปเสียทั้งหมด จีนต้องเผชิญกับความท้าทายและแรงเสียดทานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต 

ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่พรรคฯ ผลักดันนโยบาย “ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) หรือ “เส้นทางสายไหม และเส้นทางสายไหมทางทะเล” (One Belt, One Road) ในชื่อเดิมนับแต่ปี 2013 และถูกบรรจุเข้าไว้ในธรรมนูญของพรรคฯ ในปี 2017 ซึ่งนั่นหมายความว่า นโยบายนี้จะดำรงอยู่เป็นนโยบายหลักของพรรคฯ อีกนาน


ซึ่งหากนโยบายนี้ดำรงอยู่จนถึงปี 2050 หรืออีกราว 30 ปีในอนาคต ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จีนจะกลายเป็นเจ้าหนี้ที่ปล่อยสินเชื่อในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรายใหญ่สุดของโลก แต่นั่นเป็นสิ่งที่บางประเทศอาจไม่อยากให้เกิดขึ้น 

สหรัฐฯ เร่งปรับหมาก และนำเสนอโครงการ Build Back Better World (B3W) ต่อที่ประชุม G7 ในเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าจะจัดสรรสินเชื่อถึง 40 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2035

ในด้านเศรษฐสังคม พรรคฯ ได้บรรลุเป้าหมายในการขจัดปัญหาความยากจนให้หมดสิ้นจากแผ่นดินจีน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และขยับสถานะเข้าสู่การเป็น “สังคมที่เจริญในระดับกลาง” ซึ่งนับเป็นหลักหมุดหมายสำคัญที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้ในการฉลองครบรอบ 100 ปีของพรรคฯ

พรรคฯ แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่หยุดเพียงแค่นั้น จีนได้เริ่มก้าวย่างบนเส้นทางของแผนยุทธศาสตร์ใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมในระยะยาว พรรคฯ ต้องการผลักดันให้จีนก้าวสู่ยุคของการ “กินดี อยู่สบาย” และจะเริ่มพัฒนาประเทศโดยให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและประโยชน์ทางสังคม 

พรรคฯ ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2035 จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจราว 30 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในด้านปัญญาประดิษฐ์ และอื่นๆ มีเมืองอัจฉริยะมากที่สุดในโลก และเป็นต้นแบบของระบอบสังคมนิยมยุคใหม่

เมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ชาติจีนที่ยาวนานกว่า 5,000 ปี การเดินทางไกลของพรรคฯ ที่เพิ่งผ่าน 100 ปีแรกยังถือว่าเป็นเพียงก้าวเล็กๆ แต่ก็เต็มไปด้วยความสำเร็จในการ “พลิกฟ้า พลิกแผ่นดิน” อย่างแท้จริง จีนได้ตอกย้ำสถานะของการเป็นผู้นำด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองในภูมิภาคเอเชีย

วันนี้พรรคฯ ได้ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 2 พร้อมกับการเดินทางไกลอีกครั้ง เส้นทางที่ทอดยาวอยู่เบื้องหน้ามาพร้อมกับภาระหน้าที่สำคัญยิ่ง พรรคฯ มิได้เพียงต้องทุ่มเทเพื่อยกระดับให้จีนเดินหน้าไปสู่ยุคแห่งความเรืองรองอย่างมั่นคงเท่านั้น แต่ยังต้องแบกรับภาระหน้าที่ในฐานะผู้นำเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ที่จะนำพาโลกสู่หน้าใหม่ของการพัฒนา ความร่วมมือ ความเป็นอยู่ที่ดีถ้วนหน้า และสันติสุข ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง