รีเซต

จับตา "ไวรัสมาร์เบิร์ก" ระบาดในแอฟริกา อาการเหมือนผี เสียชีวิตใน 8-9 วัน

จับตา "ไวรัสมาร์เบิร์ก" ระบาดในแอฟริกา อาการเหมือนผี เสียชีวิตใน 8-9 วัน
TNN ช่อง16
20 กรกฎาคม 2565 ( 19:51 )
125
จับตา "ไวรัสมาร์เบิร์ก" ระบาดในแอฟริกา อาการเหมือนผี เสียชีวิตใน 8-9 วัน

"ไวรัสมาร์เบิร์ก" ระบาดในแอฟริกา องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เปรียบเทียบอาการระยะหลังว่า "เหมือนผี" คือ ดวงตาลึกโบ๋-หน้าไร้ความรู้สึก-เฉื่อยชา เสียชีวิตใน 8-9 วัน ยังไม่มียาเฉพาะหรือวัคซีนป้องกัน



เมื่อ 2 วันก่อน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกานา ยืนยันพบผู้ติดเชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก 2 รายแรก ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในตระกูลเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดอีโบลา ผู้ป่วยทั้งสองเสียชีวิตในโรงพยาบาลในเขตอาชานติ ทางภาคใต้ของประเทศเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งทั้งคู่มีอาการท้องร่วง, ไข้, คลื่นไส้ และอาเจียน

ส่วนผลตัวอย่างเชื้อที่ถูกส่งไปตรวจสอบได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการในเซเนกัลว่ามีผลเป็นบวกเมื่อต้นเดือนนี้ ทำให้ขณะนี้ มีผู้ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อ 98 ราย ถูกกักกันตัวแล้ว ผู้ติดเชื้อมักมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงและอาจทำให้เสียชีวิต โดยมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ระหว่าง 24-88% ทำให้กานาต้องประกาศว่ามีการระบาดของไวรัสมาร์เบิร์กเป็นครั้งแรก 

และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อ รวมถึงการกักตัวและติดตามตัวผู้ใกล้ชิดทุกคน ซึ่งจนถึงเวลานี้ยังไม่มีใครที่มีอาการของการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว โดยที่ผ่านมาเคยเกิดการระบาดแล้วหลายครั้งในหลายประเทศแถบแอฟริกา

อาการป่วยจากไวรัสมาร์เบิร์ก 

- มีไข้

- ปวดหัวรุนแรง

- ปวดกล้ามเนื้อ

3 วันถัดมา 

- ท้องเสียรุนแรง 

- ปวดท้อง 

- คลื่นไส้

- อาเจียน

- เลือดออกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

องค์การอนามัยโลก อธิบายถึงผู้ป่วยที่มีอาการระยะหลังว่า "เหมือนผี" คือ ดวงตาลึกโบ๋-หน้าไร้ความรู้สึก-เฉื่อยชา เสียชีวิตใน 8-9 วัน หลังเริ่มป่วยวันแรก เพราะเสียเลือดมาก-อาการช็อก

ไวรัสมาร์เบิร์ก.. ระบาดจากไหน?

- ค้างคาวผลไม้อียิปต์ (Egyptian rousette fruit bats) ต้นตอไวรัส

- ลิงเขียวแอฟริกา หมู พาหะนำโรค

- มนุษย์ติดเชื้อจากสารคัดหลั่ง ที่นอนที่ติดเชื้อ

แม้รักษาหาย แต่เลือด/อสุจิ ยังแพร่เชื้อได้อีกหลายเดือน

สำหรับการรักษา นั้น ยังไม่มียาเฉพาะ หรือวัคซีนป้องกัน โดยแพทย์ต้องให้น้ำเกลือ-เลือดโดยเร็ว ขณะที่ องค์การอนามัยโลก กำลังพัฒนายา-ภูมิคุ้มกัน จาก "เลือด" ผู้ป่วยอยู่.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง