รีเซต

อดีตกรธ.ชี้ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญควรมีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมด้วย

อดีตกรธ.ชี้ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญควรมีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมด้วย
TNN ช่อง16
27 สิงหาคม 2563 ( 15:12 )
114

วันนี้ (27ส.ค.63) นายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เนื่องจากแก้ไขได้ยาก จึงควรแก้ไขใหม่ทั้งหมดด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาเป็นผู้ยกร่าง ว่า ตามหลักการที่กำหนดให้รัฐธรรมนูญแก้ไขยากกว่ากฎหมายเป็นเรื่องปกติของรัฐธรรมนูญ แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 วางมาตรการที่นอกจากจะต้องมีเสียงข้างมากแล้วยังกำหนดเสียง ส.ว.มาเป็นองค์ประกอบด้วย จึงหาต้องพูดคุยหาจุดร่วมกัน เพราะการกำหนดแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยากกว่าในอดีตเพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียวจึงเป็นเหตุให้เกิดความปั่นป่วนในระบบการเมือง จนเกิดการเดินขบวนประท้วง หากจะให้สังคมเกิดความสมานฉันท์จึงเห็นว่า ส.ว.มีความจำเป็นเข้ามาร่วมด้วย แต่เจตนารมณ์ของ กรธ. คือ ส.ว.จากการเลือกทางอ้อม ไม่ใช่ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลชุดนี้ 

ส่วนการจัดตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น นายอุดม เห็นว่า ที่ผ่านมาก็เคยมีรัฐธรรมนูญที่มาจากส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ความมั่นคง และความเสถียรของรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า มีที่มาจากใคร แต่ก็ทำให้มีความรู้สึกมั่นใจมากกว่าเอากลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาแต่งตั้งแต่ในความเป็นจริงคนที่ไปยกร่างรัฐธรรมนูญในเชิงเทคนิค ต้องมีความชัดเจนสอดคล้องกับสังคมจึงจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ ทั้งเรื่องการใช้ภาษา การเข้าใจที่มา เพื่ออธิบายเหตุผลอาศัยความต้องการอย่างเดียวของประชาชนไม่ได้ ต้องอาศัยความต้องการ บวกกับเทคนิคจึงเห็นควรให้มีสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญใน ส.ส.ร.หรืออาจจะต้องมีคณะกรรมาธิการยกร่างไปดูในรายละเอียดก่อนเสนอต่อ ส.ส.ร. 

นายอุดม ยังยืนยันด้วยว่า ได้ประกาศต่อสาธารณะแล้วว่าจะไม่ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว พร้อมย้ำว่า หากจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการยกร่างก็ไม่สามารถกำหนดได้ดั่งใจว่า จะได้สิ่งที่ยกร่างได้ทั้งหมดแต่ก็ต้องรับฟังบุคคลอื่น ทั้งฟังคณะกรรมการด้วยกัน ไปจนถึงประชาชนทั่วไปที่มาแสดงความเห็นทางการเมือง จึงคิดว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่บุคคลซึ่งเคยยกร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วจะตอบรับง่ายๆ เพราะว่าร่างที่ออกมามีทั้งคนชม และคนตำหนิจึงเป็นเรื่องที่ลำบากใจสำหรับคนที่จะเข้ามาเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเฉพาะบุคคลที่เคยมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียคนที่เคยทำรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ก็รู้สึกว่ารัฐธรรมนูญที่ยกลากมามีเหตุผลหากมาร่วมแก้ไข ก็รู้สึกว่าลบล้างเหตุผลที่เคยร่างมา

ส่วนกรณีหาก ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจะวนกลับไปที่นักการเมืองเข้ามาเป็นผู้ยกร่างหรือไม่นั้นนายอุดม มองว่า เป็นเรื่องธรรมดาหากนึกถึงการทำงานที่เป็นหลักฐานการเมืองระบอบประชาธิปไตยสะท้อนการยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่คงไม่ง่ายที่จะหาข้อสรุปที่ยุติและลงตัวหากจะมี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ก็คงจะเป็นความยุ่งยากของสังคมอีกครั้งหนึ่งเพราะคงไม่ได้มาในแนวทางความคิดที่ไปในทิศทางเดียวกันเหมือนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต่างคนต่างมีความรู้สึกความต้องการที่หลากหลายจนหาข้อสรุปได้ยากซึ่งเคยมีทั้งถึงขั้นวอร์คเอ้าท์ ลาออก หากเห็นไม่ตรงกันก็ต้องลงมติซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญก็มีปัญหาโดยตลอดว่าไม่สามารถเอาใจทุกคนได้แต่ต้องเป็นไปตามเสียงข้างมาก ซึ่งดูได้จากการเมืองที่ออกมา


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com 
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live 
twitter : TNNONLINE 
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE 
Instagram : TNN_ONLINE 
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง