รีเซต

สปสช.ยกระดับ "บัตรทอง" 4 บริการ ตั้งเป้าปี 65 ผู้ป่วยทั่วไทยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว

สปสช.ยกระดับ "บัตรทอง" 4 บริการ ตั้งเป้าปี 65 ผู้ป่วยทั่วไทยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
TNN ช่อง16
14 พฤศจิกายน 2564 ( 19:16 )
88

วันนี้ (14 พ.ย.64) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบให้มีการ “ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง” เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ใน 4 บริการ ตามนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สปสช.ได้สรุปการดำเนินการตามนโยบาย (รายงานผลการดำเนินงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 6 เดือน ของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 - มีนาคม 2564) ดังนี้ 

1. ประชาชนที่เจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำาครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบบัตรทองที่ไหนก็ได้ ตามนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” เริ่มนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และพื้นที่ สปสช.เขต 9 นครราชสีมา เนื่องจากโครงสร้างระบบบริการที่มีความพร้อม 

โดยกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร จะขยายเครือข่ายบริการปฐมภูมิเพื่อรองรับ มีการเชื่อมต่อข้อมูลคลินิกหมอครอบครัวและผู้ป่วยเพิ่มเติม จัดทำระบบตรวจสอบสิทธิผ่านแอปพลิเคชัน และระบบยืนยันตัวตนในการรับบริการผ่านบัตรประชาชน ซึ่งผลดำเนินการในพื้นที่ สปสช.เขต 9 นครราชสีมา ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564

จากข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย. 64 มีผู้รับบริการปฐมภูมิต่างหน่วยบริการประจำโดยที่ประชาชนไม่ถูกเรียกเก็บเงิน รวมทั้งสิ้น 230,379 ครั้ง โดยไม่พบการร้องเรียน และได้ขยายการดำเนินงานไปยังพื้นที่เขต 7 ขอนแก่น เขต 8 อุดรานี เริ่มวันที่ 1 มี.ค. 64 และ เขต 10 อุบลราชธานี เริ่มวันที่ 1 เม.ย. 2564 ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ระหว่างรวบรวมผลดำเนินการ

2. ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว เดิมการขอใบส่งตัวรักษาจากหน่วยบริการประจำเพื่อรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลเฉพาะทาง ผู้ป่วยหรือญาติจะต้องทำทุก 3 เดือนจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา โดยกรณีที่เข้ารักษาเป็นผู้ป่วยใน การที่ต้องกลับไปขอใบส่งตัวใหม่ที่หน่วยบริการประจำ นอกจากเกิดความไม่สะดวก เป็นปัญหาแล้ว ยังมีภาระค่าใช้จ่ายเดินทาง 

สปสช. จึงได้ปรับระบบให้ผู้ป่วยในสามารถรักษาต่อเนื่องได้ทันทีตามการวินิจฉัยของแพทย์ โดยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวที่หน่วยบริการประจำ ใช้เพียงบัตรประชาชนตรวจสอบตัวตนผู้ป่วยเท่านั้น โดย สปสช. ดูแลเรื่องเงินสนับสนุน ส่วนโรงพยาบาลจะดูแลเรื่องระบบบริการ ใบส่งต่อรักษา รวมทั้งประวัติต่าง ๆ ของผู้ป่วย 

โดยนำร่องในพื้นที่เขต 9 นครราชสีมา เริ่มวันที่ 1 พ.ย. 2563 และในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2564 

จากข้อมูลวันที่ 30 เม.ย. 2564 ในพื้นที่เขต 9 นครราชสีมา พบว่าผู้ป่วยและญาติ ได้รับความสะดวก ไม่ต้องมีภาระกลับไปขอใบส่งตัวกรณีไปรับการรักษาผู้ป่วยในต่างหน่วยบริการประจำ จำนวน 82,599 ครั้ง และไม่ปรากฎข้อร้องเรียนจากประเด็นนี้ และด้วยผลดำเนินการนี้ สปสช.  ได้ขยายบริการครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2565 นี้ 

3. โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยเร็ว ไม่ให้อาการลุกลามและมะเร็งบางชนิดยังเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งจะได้ใบรับรองและประวัติ หรือ Code เพื่อเลือกไปรับบริการผ่าน 3 ช่องทาง 

คือ 1) ผ่านสายด่วน สปสช. 1330 2) แอปพลิเคชัน สปสช. และ 3) ติดต่อที่หน่วยบริการโดยตรง เฉพาะที่โรงพยาบาลรักษามะเร็ง โดยให้บริการตามโปรโตคอลรักษามะเร็ง บริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) บริการปรึกษาเภสัชกรทางไกล (Tele pharmacy) และการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy)

โดยเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 ในโรงพยาบาลรักษามะเร็งที่มีความพร้อมทั่วประเทศ โดยความร่วมมือกับกรมการแพทย์ที่ได้จัดทำฐานข้อมูลเชื่อมโยงเพื่อให้บริการ 

จากข้อมูลผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 30 เม.ย. 2564 มีโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนร่วมให้บริการตรวจรักษาโรคมะเร็งระบบบัตรทอง 192 แห่ง มีผู้ป่วยมะเร็งรับบริการผู้ป่วยนอก 263,485 ครั้ง หรือ 137,736 คน ในจำนวนนี้เป็นการใช้บริการตามนโยบายโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม 46,655 ครั้ง หรือร้อยละ 16.58 ของผู้ป่วยนอกมะเร็งทั้งหมด

ส่วนผู้ป่วยมะเร็งรับบริการผู้ป่วยใน 99,915 ครั้ง หรือ 81,045 คน ในจำนวนี้เป็นใช้บริการตามนโยบายฯ 10,128 ครั้ง หรือร้อยละ 10.13 ของผู้ป่วยในมะเร็งทั้งหมด ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายค่ารักษา 

4. ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน จากเดิมที่การย้ายหน่วยบริการต้องรอทุกวันที่ 15 หรือวันที่ 28 ของเดือน เนื่องจากต้องตรวจสอบเอกสารสิทธิก่อน ทำให้เป็นอุปสรรคเมื่อเจ็บป่วยไม่สามารถเข้ารับการรักษากับหน่วยบริการได้ทันที

ดังนั้น สปสช. ได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนโดยใช้แอปพลิเคชัน สปสช. บนสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ ให้ประชาชนเปลี่ยนหน่วยบริการประจำด้วยตนเองและได้สิทธิทันทีภายในวันเดียว (เปลี่ยนสิทธิไม่เกิน 4 ครั้ง/ปี) โดยเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564

จากข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย 2564 มีประชาชนสิทธิบัตรทองเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ 537,439 ครั้ง เป็นการดำเนินการผ่านหน่วยบริการ 485,595 ครั้ง หรือร้อยละ 92 และผ่านแอป สปสช. 51,844 ครั้ง หรือร้อยละ 8 ในจำนวนนี้ใช้สิทธิทันทีในหน่วยบริการ 29,945 ครั้ง หรือร้อยละ 7.21

“จากรายงานที่ปรากฏจะเห็นได้ว่าการพัฒนาระบบบริการทั้ง 4 บริการนี้ ตามนโยบายของ รมว.สาธารณสุข ได้ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยในการเข้ารับบริการ ลดความยุ่งยากในการใช้สิทธิบัตรทอง ทำให้เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนบริการที่ได้นำร่องในบางพื้นที่นั้น สปสช.มีนโยบายที่จะขยายบริการเพิ่มเติม โดยในส่วนบริการผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวจะขยายครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2565 นี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

รายละเอียดสอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. 1330 หรือเพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6


ข้อมูลจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง