“จุรินทร์” นำทีมถก 7 "ผู้นำเข้า" ตั้งเป้าขายตรงสินค้าแบรนด์ไทย
วันที่ 19 มิถุนายน 2565 เวลา 12.00 น.(เวลาประเทศไทย 19.00 น.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภายหลังเป็นประธานกิจกรรมบุกตลาดไอซ์แลนด์ Top Thai Products Networking @Iceland พร้อมด้วย นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางสาววิมลพัชระ รักษาเกียรติ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงออสโล นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่โรงแรม Fosshotel เมืองเรคยาวิก ประเทศไอซ์แลนด์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ได้มีโอกาสประชุมร่วมกับภาคเอกชนของไอซ์แลนด์ที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าไทยและประสงค์นำเข้าสินค้าไทยมากขึ้นในอนาคต ภาพรวมการค้าไทยกับไอซ์แลนด์ ประเทศไอซ์แลนด์เป็นประเทศมีประชากรประมาณ 300,000 กว่าคน แต่เป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจสูงและมูลค่าการค้าไทยกับไอซ์แลนด์ยังน้อยเพราะถือเป็นตลาดใหม่ของไทย ซึ่งตนมีนโยบายต้องการส่งออกสินค้าไทยมาที่นี่มากขึ้น ปีที่แล้วตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับไอซ์แลนด์ มีมูลค่า 782 ล้านบาท ไทยส่งออกมาที่ 212 ล้านบาทซึ่งน้อยมาก อนาคตเชื่อว่าจะดีขึ้น ปี 2565 ตัวเลขส่งออกมากขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% สินค้าที่ไอซ์แลนด์นำเข้าจากไทยเช่น อวนจับปลา ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องกีฬา ข้าวและผลิตภัณฑ์จากยาง ส่วนสินค้าที่ประเทศไทยนำเข้าจากไอซ์แลนด์ เช่น อาหารทะเลแช่แข็งเนื้อสัตว์ รวมทั้งผักสด ผลไม้แปรรูป เป็นต้น
วันนี้การหารือระหว่างเอกชนผู้นำเข้าไอซ์แลนด์กับไทย มีผู้นำเข้าสำคัญ 7 ราย ทั้งผู้นำกลุ่มนักธุรกิจสตรีจากไอซ์แลนด์ และชาวไทยบางส่วนที่ทำธุรกิจนำเข้าสินค้า เจ้าของร้านอาหารไทย ซึ่งที่นี่มีร้านอาหารไทยถึง 14 ร้านด้วยกันซึ่งได้รับความนิยม ประเด็นที่หารือวันนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ผู้นำเข้าต้องการสินค้าไทยที่ได้มาตรฐานยุโรป รวมทั้งต้องการสินค้าไทยที่มีปริมาณมากพอที่จะสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวไอซ์แลนด์ ซึ่งสินค้าอาหารไทยที่ส่งออกไปทั่วโลกปีละกว่า 1.1 ล้านล้านบาทได้มาตรฐานยุโรป ยกเว้นรายย่อย ซึ่งตนมอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจับจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้นำเข้าไอซ์แลนด์กับผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยที่ได้คุณภาพมาตรฐานยุโรป ผ่านระบบออนไลน์เพื่อเพิ่มตัวเลขการส่งออก
ประเด็นที่สอง ผู้นำเข้าเป็นห่วงเรื่องการนำเข้าสินค้าไทยที่อดีตมีช่วงเวลาจำหน่ายน้อย การจัดจับคู่เจรจาธุรกิจจะช่วยให้การนำเข้าสินค้าตามมาตรฐาน ว่าต้องไม่หมดอายุไม่ต่ำกว่าหนึ่งปีครึ่งจะได้มีเวลาจำหน่ายได้ยาวนาน
ประเด็นที่สาม เรื่องค่าใช้จ่ายของผู้นำเข้า ที่ผ่านกระบวนการนำเข้าหรือค่าชิปปิ้งยังสูงมาก ซึ่งพรุ่งนี้เราจะเปิดนับหนึ่งประวัติศาสตร์การลงนามร่วมระหว่างประเทศไทยกับ 4 ประเทศ ที่เป็นสมาชิกสมาคมเสรีการค้ายุโรป หรือ AFTA ประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ลิกเตนสไตน์และไอซ์แลนด์ กับไทย จะเริ่มเจรจาถ้าสำเร็จการนำเข้าสินค้าไทยมาไอซ์แลนด์จะคล่องตัว ลดค่าใช้จ่ายรวมทั้งภาษีระหว่างกับเป็นศูนย์ในอนาคต
ประเด็นที่สี่ มีผู้นำเข้าได้หยิบยกประเด็นเรื่องร้านอาหารไทยมาหารือ ให้ร้านอาหารไทยในไอซ์แลนด์เป็นอาหารไทยแท้ ที่ไม่ดัดแปลงจนเสียอัตลักษณ์ ตนขอให้ทูตพาณิชย์ที่ดูแลร้านอาหารไทยที่ไอซ์แลนด์กำชับและติดตามต่อไป อาหารไทยแท้จะให้ตรา Thai Select ซึ่งเป็นตราการันตีความเป็นอาหารที่มีอัตลักษณ์ของความเป็นไทยให้คนไอซ์แลนด์มั่นใจ และขอความร่วมมือคนไทยทำอาหารไทยอย่าทำให้เสียความเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นไทย
ประเด็นที่ห้า นักธุรกิจไอซ์แลนด์แจ้งว่าสนใจสินค้าสุขภาพและอาหารสุขภาพหรือออร์แกนิกจากไทยมาก เพื่อใช้ในสปา สมุนไพรไทย เป็นต้น เราจะจัดผู้ส่งออกผู้ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องมาพบกับผู้นำเข้าผ่านระบบซูมต่อไป
กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศจะร่วมกันเดินหน้าในการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับไอซ์แลนด์ คือ 1.วันนี้เริ่มต้นจาก mini exhibition นำสินค้าไทยทั้งทส่งออกโดยตรงและรับจ้างผลิตภายใต้แบรนด์ต่างประเทศมาแสดง
2.จะมุ่งเน้นส่งสินค้าไทยมาไอซ์แลนด์โดยตรงให้มากขึ้น ประสานกับผู้นำเข้าสินค้าไทยที่เป็นแบรนด์ไทยมากขึ้นต่อไป
3.จะจัดจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างผู้นำเข้าไอซ์แลนด์กับผู้ส่งออกผู้ผลิตของไทย
4.ไทยจะมาจัดการส่งเสริมการขายสินค้าไทยในห้าง หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตของไอซ์แลนด์ให้มากขึ้น
5.ไทยจะเร่งรัดการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ AFTAให้คืบหน้าเร็วที่สุด
6.กรมส่งเสริมการค้าจะเชิญผู้นำเข้าร่วมงาน THAIFEX – Anuga Asiaในปีหน้า
ตนหวังว่ามูลค่าทางการค้าระหว่างไทยกับไอซ์แลนด์จะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10% ในปีนี้
ผู้สื่อข่าวระบุว่า สินค้าไทยที่นำมาจัดแสดงในงาน Top Thai Products Networking @Iceland วันนี้ เป็นสินค้าไทยในสินค้ากลุ่มอาหารออร์แกนิก ของตกแต่งบ้าน เครื่องประดับ รองเท้าและเครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์สปา และในช่วงบ่าย นายจุรินทร์มีกำหนดการลงพื้นที่เพื่อสำรวจตลาดสินค้าไทยที่ห้าง Kronan ซึ่งเป็นซูเปอร์มาเก็ตรายใหญ่ (อันดับสอง) ของไอซ์แลนด์ และช่วงเย็นจะมีการเข้ามอบตราสัญลักษณ์ Thai Select ให้กับร้าน “ครัวไทย” ในไอซ์แลนด์ เพื่อรับรองรสชาติและคุณภาพของอาหารว่าได้มาตรฐานให้มีรสชาติไทยแท้ เพื่อแนะนำให้กับผู้บริโภคชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวต่อไป
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า กิจกรรมที่เมืองเรคยาวิก สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ จัดกิจกรรมบุกตลาดสินค้าไทยในไอซ์แลนด์โดยวิธีการ Sourcing ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขาย ได้พบหารือสร้างเครือข่ายทางการค้าระหว่างกัน ซื้อขายสินค้าโดยตรงระหว่างกันให้มากขึ้น ทั้งนี้ ไอซ์แลนด์ เป็นตลาดที่มีผู้บริโภคขนาดเล็ก มีประชากรจำนวนประมาณ 371,580 คน แต่เป็นผู้บริโภคที่มีรายได้ต่อหัวสูงถึง 54,482 เหรียญสหรัฐ โดยกรุงเรคยาวิก เมืองหลวงของประเทศ มีประชากรอาศัยอยู่ราว 131,136 คน เป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของไอซ์แลนด์ และได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ประชากรมีสุขภาพที่ดีที่สุดของโลก
ภาพ กระทรวงพาณิชย์