จอดป้ายประชาชื่น : เครื่องชี้วัดปากท้องคนไทย
หลังเกิดการแพร่ระบาดของ ไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 ทำให้ปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมหนักหนาที่สุด หากนับวิกฤตที่เคยหนักสุดเมื่อปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง
โดยหลายคนที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โควิด-19 สร้างผลกระทบรุนแรงกว่าครั้งเกิดต้มยำกุ้งเสียอีก เหตุเพราะโควิด-19 กระทบไปในทุกระดับชนชั้น คนรวย รวยน้อยลง ส่วนคนจน จนมากขึ้น ทำให้เห็นช่องว่างระหว่างคนรวย และคนจนถ่างกว้างมากขึ้น
แม้กระนั้นก็ยังเห็นว่า เครื่องมือชี้วัดเศรษฐกิจในปี 2563 ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทย ปี 2563 ติดลบกว่า 6.1% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 22 ปีส่วนตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 4/2563 ติดลบ 4.2% แต่ก็ถือว่าจีดีพีที่ออกมา ติดลบน้อยกว่าที่คาดไว้
แม้จะเป็นเรื่องราวดีๆ แต่เมื่อหลายคนมองลึกลงไปถึงกลับรู้สึกว่า ตัวเลขดังกล่าวดูจะไม่สอดคล้องกับสภาวะความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชาชนคนไทยนัก เพราะพลันที่โควิด-19 เริ่มกระหน่ำเห็นที่เด่นชัดทันทีคือ ภาพความเดือดร้อนของคนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะคนฐานราก ที่ลำพังในภาวะปกติ ศักยภาพในการใช้จ่าย หรือการดำรงชีพก็น้อยกว่ากลุ่มคนระดับกลางขึ้นไปอยู่แล้ว แต่พอโควิด-19เข้ามา ก็ถูกกระทบหนัก จนสาหัสซ้ำซ้อน
ยิ่งกว่านั้นยังสะท้อนได้จากภาพความเดือดร้อนของคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ แต่กลับเข้าไม่ถึง ตั้งแต่เราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง ยันเราชนะ ที่ต้องถามรัฐบาลว่า ตกลงใครชนะกันแน่
เมื่อตัวเลขจีดีพี อาจไม่ได้บอกถึงความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชาชน จะถึงเวลาหรือยัง ที่เราควรมองความกินดีอยู่ดีของคนในประเทศเป็นหลักจริงๆ และหาเครื่องมือที่สะท้อนได้จริงมากกว่านี้