จอดป้ายประชาชื่น : ทรุดหรือฟื้น?
จอดป้ายประชาชื่น : ทรุดหรือฟื้น?
ปี 2563 ผ่านครึ่งปีแรกมาอย่างสะบักสะบอม หลังจากเกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทุกอย่างหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ภาคบริการ รวมถึงการอุปโภคและบริโภค เนื่องจากผลกระทบของโรคระบาดขยายเป็นวงกว้างทั่วประเทศและทั่วโลก รัฐบาลจึงต้องเร่งหาทางเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบผ่านมาตรการที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท แหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน)
โดยรัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน จำนวน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 กระตุ้นเศรษฐกิจ และฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะถัดไป แบ่งเป็นงบประมาณที่ใช้กับการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท มีวงเงินอนุมัติแล้ว 101.8 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 0 บาท แผนงานเพื่อเยียวยาชดเชยให้ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ วงเงิน 555,000 ล้านบาท มีการอนุมัติแล้ว 344,735 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 297,369 ล้านบาท และแผนงานเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท มีการอนุมัติแล้ว 43,082 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 131 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่างบประมาณก้อนใหญ่ทั้ง 1 ล้านล้านบาท ได้รับการเบิกจ่ายไปยังไม่ถึง 50% ของภาพรวม โดยเฉพาะงบประมาณในส่วนของแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท มีโครงการขอใช้งบประมาณเข้าจำนวนหลายหมื่นโครงการ แต่จากข้อมูลของเว็บไซต์ http://thaime.nesdc.go.th/ พบว่ามีจำนวนโครงการผ่านการพิจารณาเบื้องต้นเพียง 186 โครงการ และผ่านการอนุมัติแล้วไม่กี่โครงการเท่านั้น
ทำให้เม็ดเงินกู้ที่จะต้องลงมากระตุ้นเศรษฐกิจยังเข้ามาแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งที่ความจริงแล้วสถานการณ์วิกฤตแบบนี้ รัฐจะต้องกล้าใช้เงินเพื่ออัดฉีดเงินหมุนเวียนในระบบ รวมถึงต่อลมหายใจให้กับประชาชนและภาคธุรกิจที่กำลังจะยืนไม่ไหวแล้ว
แต่ความรวดเร็วในการใช้เงินของรัฐบาลดูยังไม่มากเพียงพอ เพราะแม้เศรษฐกิจไทยจะผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาแล้ว กลับพบว่า สถานการณ์ยังไม่กลับมาเป็นปกติ เรียกว่าอยู่ในอาการทรงตัวรอทรุด หรือรอฟื้นมากกว่า
รัฐบาลจึงต้องตัดสินใจว่า จะเร่งใช้งบเพื่อแก้ไขวิกฤตที่ผ่านมา หรือรอประเมินสถานการณ์ทั้งที่รู้ว่าหลายส่วนจะยืนไม่ไหว และล้มลงอย่างต่อเนื่อง