ใจหมอผู้ดีหลั่งน้ำตาโควิดคร่าคนเป็นเบือ จิตใจสุดบอบช้ำ-วอนสังคมตระหนัก
ใจหมอผู้ดีหลั่งน้ำตาโควิดคร่าคนเป็นเบือ - วันที่ 21 ม.ค. เดลีเมล์รายงานว่า สารคดีเบื้องหลังบรรยากาศการทำงานสุดเคร่งเครียดในโรงพยาบาลประเทศอังกฤษที่กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 ล้นโรงพยาบาล โดยบุคลากรทางการแพทย์ยังคงทำงานอย่างสุดแสนเหนื่อยล้าพร้อมแบกรับแรงกดดันต่อจิตใจใหญ่หลวงจนบางคนถึงกับร้องไห้
เนื้อหาอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจ
สารคดีดังกล่าวเป็นผลงานการถ่ายทำจากสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ เผยให้เห็นการทำงานภายใต้แรงกดดันมหาศาลของบุคลากรทางการแพทย์ทุกฝ่ายในโรงพยาบาลรอยัล ลอนดอน โดยเจ้าหน้าที่หลายคนที่ให้สัมภาษณ์นั้นอยู่สภาพเครียดจัดและจิตใจบอบช้ำจากสภาวะการณ์ที่ต้องทนดูผู้ป่วยเสียชีวิตอยู่ตลอดเวลา หลายคนน้ำตาคลอเบ้า และบางคนอดกลั้นไว้ไม่อยู่จนร้องไห้ระหว่างการสัมภาษณ์
การถ่ายทำนี้เกิดขึ้นท่ามกลางมาตรการล็อกดาวน์ขั้นสูงสุดในกรุงลอนดอน หลังอังกฤษมีจำนวนผู้เสียชีวิตทำสถิติสูงสุดอีกครั้งถึง 1,610 รายในรอบ 24 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ในระยะเวลาเพียงสัปดาห์เดียว โดยศูนย์ผู้ป่วยวิกฤต เตือนว่า โรงพยาบาลทั่วประเทศขณะนี้มีผู้ป่วยล้นเกินความสามารถ และบุคลากรทางการแพทย์กำลังอ่อนล้าถึงขีดสุด หลังทำงานติดต่อกันมานานหลายเดือน
นางฮันนาห์ ลีย์ พนักงานห้องเก็บศพที่รพ.รอยัล ลอนดอน กล่าวยอมรับด้วยสีหน้าอันเศร้าหมองว่า ปริมาณของศพผู้เสียชีวิตที่เข้ามานั้นมีมากจนทำให้จิตใจของตนแทบไม่สามารถแบกรับต่อไปได้อีก โดยยอมรับว่ามีศพเรียงเข้ามามากราวกับเป็นสายพานลำเลียง
ผู้สื่อข่าว ไคลฟ มิรี จากบีบีซีถามว่า "พวกคุณต้องเตรียมจิตใจกันยังไง เวลาต้องเจอคนตายเข้ามาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ แบบนี้"
นางลีย์ตอบว่า "ปกติมันเป็นงานของพวกเราอยู่แล้วที่ต้องเจอ แต่ว่าปริมาณมากขนาดนี้ ดิฉันคิดว่ามันส่งผลต่อจิตใจมากค่ะ" ต่อมานางลีย์กลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหวจนร้องไห้ออกมา โดยระบุว่า "ขอโทษนะคะ" เช่นเดียวกันกับพนักงานห้องเก็บศพรายอื่นที่แทบจะร้องไห้พร้อมกับการให้สัมภาษณ์
Barts NHS Trust หนึ่งในองค์กรระบบริการสาธารณสุขแห่งชาติ หรือเอ็นเอชเอส ซึ่งมีโรงพยาบาลในเครือ 5 แห่ง ที่กรุงลอนดอน ก่อนหน้านี้ มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากถึง 1,357 ราย เมื่อ 18 ม.ค. มีผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นจนได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ 8,009 คน
จดหมายภายในรพ.ของเครือจากผู้อำนวยการรพ. ถึงเจ้าหน้าที่ทุกคน ระบุว่า โรงพยาบาลไม่สามารถให้บริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานได้อีกต่อไป หลังมีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ามาในการดูแล 200 คน ขณะที่บรรดาบุคลากรทางการแพทย์เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่เดือนธ.ค. 2563
ศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเชิงระบบ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า อังกฤษมียอดผู้ป่วยสะสมกว่า 3.5 ล้านคน เสียชีวิตแล้วกว่า 93,000 ในจำนวนนี้ เป็นผู้เสียชีวิตในกรุงลอนดอนกว่า 1 หมื่นราย
ผู้สื่อข่าวบีบีซี ระบุว่า สารคดีดังกล่าวใช้เวลาถ่ายทำและสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ในรพ. นานถึง 10 วัน ขณะที่อารมณ์โศกเศร้าเสียใจที่กลั้นไว้ไม่อยู่แบบนางลีย์นั้นเกิดจากการที่ต้องแบกรับแรงกดดันมาตลอดช่วงการระบาดของโรคโควิด-19
"ฮันนาห์บอกกับผมว่า ไม่เคยนำเรื่องเหล่านี้ไปเล่าหรือระบายให้ครอบครัวและเพื่อนฟัง เพราะไม่ต้องการพูดถึงความตาย" และว่า "เจ้าหน้าที่ 5 คน ในห้องเก็บศพต้องอดกลั้นความรู้สึกของตัวเองไว้ตลอดมาตั้งแต่เกิดการระบาด แม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ระดับนี้ก็ยืนยันว่าตั้งตัวไม่ทัน แต่พอผมถามพวกเธอว่ารู้สึกอย่างไร เป็นยังไงกันบ้างก็ได้เรื่องเลยครับ"
นางลีย์ ระบุว่า "สิ่งที่พวกคุณได้เห็น คือ ความทุกข์ ความเจ็บปวด ความคับข้องใจของพวกเราที่ถูกกดไว้นานแรมเดือนปะทุออกมา เพราะไม่เคยมีใครสนใจถามว่าพวกเราเป็นยังไงกันบ้าง พวกเราอยากจะฝากผ่านรายการนี้ไป เป็นอีกด้านที่ทุกคนลึกๆ ก็ทราบกันดี แต่ไม่พยายามไม่คิดถึง"
สารคดีดังกล่าวเผยให้เห็นบรรยากาศการทำงานที่โกลาหลและพังทลายของแผนกโควิดตั้งแต่ชั้นที่ 12-15 มีผู้ป่วยราว 400 คน โดยมีแพทย์หญิง แมรี ฮีลีย์ แพทย์แผนกไอซียูเป็นผู้ดูแล
โดยก่อนสัมภาษณ์ พญ.ฮีลีย์ อยู่ระหว่างตรวจอาการของผู้ป่วยโควิด-19 อายุ 28 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัว แต่ต้องใช้เครื่องหายใจมานานกว่า 3 สัปดาห์แล้ว ทั้งยังมีสมาชิกครอบครัวป่วยในห้องไอซียูด้วย โดยพญ.ฮีลีย์ ต้องโทรศัพท์ไปแจ้งญาติของผู้ป่วยว่า ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตในเวลาอันใกล้นี้
พญ.ฮีลีย์ ให้สัมภาษณ์ด้วยสภาพน้ำตานองหน้าว่า "มันเป็นสิ่งที่ยากค่ะ เพราะว่าครอบครัวนี้เค้าก็เจออะไรหนักๆ มามากเหมือนกัน แล้วพวกเขาก็เป็นคนดี มันทำใจยากมากๆ"
"ดิฉันคิดว่า ผู้คนในสังคมทั่วไปเค้าคงอยากจะทำสิ่งที่ถูกต้องน่ะแหละค่ะ แต่ดิฉันไม่คิดว่าพวกเค้าเข้าใจอย่างลึกซึ้งมากพอถึงความร้ายแรงของปัญหา" พญ.ฮีลีย์ ระบุ
พญ.เคธี แม็กโลอิน วิสัญญีแพทย์ (หมอยาชา-สลบ) กล่าวถึงความรู้สึกหลังเข้าไปช่วยชีวิตผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นหญิงสาวอายุ 20 ปีเศษ ใกล้เคียงกับตน หลังผู้ป่วยมีระดับออกซิเจนในเลือดตกถึงระดับอันตราย ว่าตนรู้สึกเครียดมากจนเหงื่อท่วมไปทั้งตัว
รายงานระบุว่า แม้พญ.แม็กโลอิน จะเป็นวิสัญญีแพทย์ ปกติแล้วไม่ได้ทำงานในส่วนนี้ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้บุคลากรไม่เพียงพอ และแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่อื่นๆ ทุกสาขาเชี่ยวชาญต้องทำหน้าที่ทุกอย่างเท่าที่จะทำได้
"เหงื่อออกจนท่วมไปทั้งตัวค่ะ ไม่ใช่เพราะร้อนจากชุกพีพีอีอย่างเดียว แต่เธอยังเด็กอยู่เลย แล้วก็ต้องมีคนทางบ้านเฝ้ารออยู่ สิ่งที่เรากำลังรักษาไว้มันคือชีวิตที่มีค่า มันยิ่งทำให้ทุกอย่่างน่ากลัวมากค่ะ" พญ.แม็กโลอิน ระบุ