องค์กรเด็ก ยื่นหนังสือ รมว.ยธ.ให้นำนักเรียน 2 คน ถูกครูข่มขืนเข้าคุ้มครองพยาน
วันนี้ (12 พ.ค) เวลา 14.30 น. ที่ศูนย์บริการร่วม กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก พร้อมด้วย นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลและเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชน ลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม กว่า 10 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เพื่อเรียกร้องให้นำผู้เสียหายและครอบครัว เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองพยาน ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ควบคู่กับการฟื้นฟูสภาพจิตใจเพื่อให้ผู้เสียหายมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม และได้เข้าถึงการเยียวยาจากกองทุนยุติธรม กรณีครูและรุ่นพี่รวม 7 คน ข่มขืนนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาที่ 2และ 4 ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในจ.มุกดาหาร
นายสมศักดิ์ เผยว่า วันนี้ได้รับหนังสือจากมูลนิธิช่วยเหลือเด็กและเยาวชนฯ พร้อมทำงานร่วมกัน โดยการดำเนินคดีตามกระบวนการทางกฎหมายกว่าจะสืบสวนเสร็จก็ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน และส่งอัยการใช้เวลาอีก 3 เดือนถึงจะมีการไต่สวนมูลฟ้องที่ศาล ดังนั้น จึงตัดสินใจว่าจะทำกรณีนี้ให้เกิดความชัดเจนและเป็นประโยชน์กับประชาชนที่มีลูกหลานเป็นเด็กที่ได้รับความเสียหายและให้ได้รับความปลอดภัยภายใต้การทำงานของรัฐบาล นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนจะต้องประสานไปยังอัยการจังหวัดมุกดาหาร ขอให้สืบพยานไว้ก่อนฟ้องซึ่งเป็นอำนาจพิเศษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 237 ทวิ โดยให้เหตุผลว่าคดีดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนทั้งประเทศ และจำเลยถือว่าเป็นผู้มีอิทธิพลต่อโจทก์ เนื่องจากเป็นครูอาจารย์ย่อมมีอำนาจข่มขู่ผู้เสียหายที่เป็นนักเรียน ส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของผู้เสียหาย และหากปล่อยไว้นานก็จะทำให้มีผลต่อการสืบพยาน
"เหตุผลไม่อยากปล่อยไว้ในระยะยาวนั้นเพราะ พยานจะจำสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะสั้นได้ดี รวมทั้งร่องรอยการกระทำและพฤติกรรม ทำให้ศาลได้รับข้อมูลมากที่สุด หากมีการดำเนินด้วยความรวดเร็วก็จะไม่มีเหตุแทรกแซงที่ทำให้ญาติพี่น้องของผู้เสียหายเกิดความเบื่อหน่ายและยอมความ ซึ่งมีตัวอย่างจากคดีปกติเมื่อใช้เวลานาน 3 -6 เดือน ทำให้คดีพลิกผันกลายเป็นเรื่องอื่นในที่สุด ตรงกันข้ามหากพยานและผู้ถูกฟ้องใช้เวลาน้อยก็จะมีผลให้จำเลยจะสารภาพสิ่งที่ทำผิด ต้องขอบคุณมูลนิธิฯที่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเติมเต็มแสดงเจตนาที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ให้กับเด็กหญิงผู้เสียหายทั้งสองคน" นายสมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นางทิชา กล่าวว่า จากประสบการณ์เข้าไปมีส่วนร่วมทำงานในคดีเด็กและเยาวชน เช่น กรณีค้ามนุษย์ที่ผู้เสียหายเป็นเด็กในพื้นที่บ้านน้ำเพียงดิน จ.แม่ฮ่องสอน รวมถึงกรณีเด็กหญิงถูกรุมโทรมจากผู้ชายหลายสิบคน นานนับปีในพื้นที่ บ้านเกาะแรด จ.พังงา เมื่อ 3 ปีก่อน พบสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นบทเรียนในการทำงานจากความร่วมมือของหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน พบว่ายังมีช่องว่างบางประการ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในกระบวนการยุติธรรม และการคุ้มครองเด็กและเยาวชนผู้เสียหายและครอบครัว
นางทิชา กล่าวอีกว่า กระทั่งเหตุการณ์ใน จ.มุกดาหาร เครือข่ายจึงมีจุดยืนและข้อเสนอต่อกระทรวงยุติธรรมดังต่อไปนี้ 1.ขอสนับสนุนกระทรวงยุติธรรม ให้เร่งรัดกระบวนการนำผู้เสียหายและครอบครัว เข้าสู่การคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพโดยเร็วที่สุด รวมถึงเร่งรัดมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาจากกองทุนยุติธรรมเป็นการด่วน 2. นอกจากมิติด้านความปลอดภัยในกระบวนการคุ้มครองพยานแล้ว ต้องให้ความสำคัญการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้เสียหายและครอบครัว เพราะความหวาดกลัวและด้อยในการต่อรองของผู้เสียหายด้วย จำเป็นต้องมีการฟื้นฟู การเสริมพลังเพื่อให้ผู้เสียหายเห็นคุณค่าของตัวเองและพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 3. ขอให้กระทรวงยุติธรรมเป็นแม่งาน ในการระดมสมองเพื่อหาทางออกจากเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ กับบุคลากรทางการศึกษาและในส่วนราชการ โดยเชิญภาคประชาสังคมที่มีประสบการณ์มาร่วมหาทางออกอย่างเป็นระบบ และ 4.ขอให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวสารโดยไม่ละเมิดสิทธิเด็ก และครอบครัวผู้เสียหาย ระมัดระวัง ไม่ตอกย้ำหรือกดทับสร้างบาดแผลทางจิตใจซ้ำเติมทั้งทางตรงและทางอ้อม
ส่วนทาง นายชูวิทย์ กล่วว่า เครือข่ายฯ เป็นองค์กรที่ทำงานด้านคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อเด็กและเยาวชน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐมาอย่งอย่างนาน โดยกรณีนักเรียนหญิง ม.ต้น และ ม.ปลาย โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.มุกดหาร ถูกครู 5 คนและศิษย์เก่าอีก 2 คน ข่มขืนต่อเนื่องตั้งแต่ มี.ค.62 -มี.ค.63 โดยพบว่ามีการถ่ายคลิปไว้เพื่อแบลคเมล์ข่มขู่ผู้เสียหาย เหตุเกิดในพื้นที่ สภ.ผึ่งแดด ซึ่งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมุกดาหาร ให้ครูทั้ง 5 คนออกจากราชการไว้ก่อน และสั่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง แต่ล่าสุดผู้ต้องหทั้งหมดได้เข้ามอบตัวและรับการประกันตัวออกไป ทำให้น่าเป็นห่วงว่าผู้เสียหายและครอบครัวจะถูกข่มขู่ คุกคามเอาชีวิตหรือเสียหายต่อรูปคดี เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้ก่อเหตุจำนวนมาก กระทำกันเป็นกระบวนการมายาวนานนับปี และอาจมีอิทธิพลมีอำนาจแฝงเข้ามาเกี่ยวข้อง
"สิ่งที่น่าเศร้าใจอีกเรื่อง คือ มุมมองความคิดของครูบางส่วนที่กฏในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมุ่งกล่าวโทษให้ร้ายเด็ก ทั้งที่เป็นฝ่ายถูกกระทำและสื่อสารไปในทางปกป้องผู้ก่อเหตุ เสมือนว่าเรื่องแบบนี้ใครก็ผิดพลาดกันได้ ถือเป็นตรรกวิบัติที่ไม่ควรเกิดขึ้นในคนที่มีวิชาชีพครู การให้โอกาส ให้ความเมตตาลูกศิษย์ต่งหากที่เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่การใช้อำนาจที่เหนือกว่าทั้งกายภาพและหน้าที่การงาน มาเป็นโอกาสในการข่มขืนคุกคามทางเพศ และทีมงานตั้งใจเข้าไปช่ายเหลือเด็กและครอบครัวผู้เสียหายในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมจนสุดทาง"นายชูวิพย์ กล่าว