PTTEP จับมือ 5 พันธมิตร วางแผนสร้างรง.ผลิตกรีนอีเมทานอลแห่งแรกในอาเซียน
#PTTEP #ทันหุ้น-บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) จับมือ 5 บริษัทนานาชาติชั้นนำ ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง “โรงงานผลิตกรีนอีเมทานอล” (Green e-methanol) เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำที่ได้จากการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ชีวภาพ หากผลการศึกษาประสบความสำเร็จ จะเริ่มการก่อสร้างโรงงานต้นแบบที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นโรงงานผลิตกรีนอีเมทานอลแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ร่วมกับ แอร์ ลิควิด (Air Liquide) วายทีแอล พาวเวอร์เซรายา (YTL PowerSeraya Pte. Limited) ออยล์แทงค์กิ้ง เอเชีย แปซิฟิก (Oiltanking Asia Pacific Pte. Ltd.) เคนออยล์ มารีน เซอร์วิส (Kenoil Marine Services Pte Ltd) และ เอ.พี. โมลเลอร์ – เมอส์ก เอ/เอส (A.P. Moller - Maersk A/S) ลงนามในบันทึกข้อตกลง “Green Methanol Value Chain Collaboration” เพื่อร่วมกันศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ (Feasibility studies) ในการจัดตั้งโรงงานผลิตกรีนอีเมทานอล ซึ่งเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงทางเลือกตามเป้าหมายขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization - IMO) ปี พ.ศ. 2573/ 2593 ที่จะสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ความร่วมมือในครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมเดินเรือและการขนส่งของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีความต้องการใช้พลังงานที่หลากหลายเพื่อช่วยในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้ง สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการเติมเชื้อเพลิงเรือ (Bunkering hubs) ที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รองรับ รวมถึงการสนับสนุนจากการท่าเรือแห่งประเทศสิงคโปร์ โดยหากผลการศึกษาฯ ประสบความสำเร็จ และโครงการเดินหน้าสู่การก่อสร้าง จะสามารถเรียกได้ว่าเป็นโรงงานผลิตกรีนอีเมทานอลต้นแบบแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมการเดินเรือหันมาใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงทางเลือก
ความร่วมมือดังกล่าว สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ร่วมกันของทั้ง 6 บริษัท ในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนับเป็นก้าวสำคัญที่จะผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากกรีนอีเมทานอล โดยกระบวนการผลิตกรีนอีเมทานอลครั้งนี้ จะใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ชีวภาพ (Biogenic CO2) และการผลิตกรีนไฮโดรเจน โดยนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิต เบื้องต้นคาดว่าโรงงานดังกล่าว จะมีกำลังการผลิตกรีนอีเมทานอลอย่างน้อย 50,000 ตันต่อปี
ทั้ง 6 บริษัท จะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานต้นแบบครั้งนี้ ทั้งในเชิงเทคนิคและเชิงพาณิชย์ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 หากประสบความสำเร็จ จะสามารถเดินหน้าการก่อสร้างโรงงานได้ตามแผนงาน ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย