ธุรกิจฟิตเนสเจ๊งกว่า 3.5 พันราย กระทบเศรษฐกิจเกือบหมื่นล้าน
นายศุกรีย์ สุภาวรีกุล นายกสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจฟิตเนสได้รับผลกระทบตั้งแต่เริ่มต้นโควิด-19 ครั้งแรกในช่วงต้นเดือนมีนาคม ปี 2563 รัฐบาลสั่งปิดกิจการ 105 วัน หลังจากนั้นลูกค้าก็ค่อย ๆ ลดลงไปประมาณ 40% ต่อมาหลังจากการระบาดในระรอก 2 ในช่วงปลายปี จนถึงช่วงปีใหม่ 2564 ก็เริ่มดีขึ้นแต่ลูกค้าก็กลับมา 30% จากภาวะปกติ และในการระบาดระลอก 3 ในเดือนเมษายน 2564 ทำให้ต้องปิดกิจการตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการต้องปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก
คาดปิดกิจการถาวร 70%
ทั้งนี้ ในช่วงก่อนโควิด-19 มีกิจการฟิตเนสทั้งใหญ่และเล็กทั่วประเทศประมาณ 5 พันแห่ง หากสิ้นเดือนสิงหาคมยังเปิดไม่ได้ ก็คาดว่าจะเหลือผู้ที่อยู่รอดได้ไม่ถึง 30% และต้องปิดกิจการถาวรประมาณ 70% หรือกว่า 3.5 พันราย โดยรายที่ต้องกู้เงินมาดำเนินกิจการน่าจะไม่มีทางกลับมาได้ เพราะขายกิจการนำเงินมาใช้หนี้หมดแล้ว ส่วนที่ไม่มีภาระหนี้ ก็อาจจะกลับมาได้บ้าง แต่ก็ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งภาครัฐควรจะเข้ามาสนับสนุนหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเข้ามาช่วย เพราะในช่วงปิดกิจการใช้เงินสำรองประคองธุรกิจไปหมดแล้ว
หลังโควิดต้นทุนดำเนินกิจการพุ่งสูง
โดยมองว่าหลังจากนี้ธุรกิจฟิตเนสจะต้องเปลี่ยนไป จะต้องมีการลงทุนปรับปรุงระบบถ่ายเทอากาศ และฟอกอากาศใหม่หมด การซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้มานาน รวมทั้งจะต้องเพิ่มระยะห่างระหว่างเครื่องออกกำลังการ จากเดิมที่ 100 ตารางเมตร จะมีพื้นที่ให้บริการ 10 คน จะต้องลดลงเหลือ 3-4 คน หรือพื้นที่ลดไปถึง 60% ทำให้รายได้ลดลงไปมาก โดยผู้ที่เหลือรอดจะมีเพียงขนาดกลางและใหญ่ ส่วนรายเล็ก ๆ ก็จะต้องหายไป เพราะต้นทุนหลักจะเป็นค่าเช่าที่ หากเป็นขนาดเล็ก 300 ตารางเมตร ก็มีค่าเช่า 6 – 7 แสนบาทต่อเดือน ถ้ามีขนาดใหญ่ขึ้น ค่าเช่าก็จะยิ่งสูงขึ้น
ต้นทุนการดำเนินงานหลังโควิด-19 จะเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าสมาชิกแพงขึ้น และขายยากขึ้น คาดว่ากลุ่มผู้ใช้บริการเดิมจะหายไปประมาณ 80% เหลือแต่ผู้ที่มีรายได้สูงที่เข้ามาใช้บริการได้ โดยหลังจากโควิด-19 มองว่าผู้บริโภคจะมีรายได้ลดลง และระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะโควิด-19 น่าจะกลายพันธุ์เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทำให้ผู้คนไม่กล้ามาใช้บริการ ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องปรับปรุงสถานที่ และอุปกรณ์ให้ผู้ใช้มีความมั่นใจเต็มที่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทาย และมีต้นทุนการดำเนินงานสูง
“วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น สร้างความสูญเสียในธุรกิจฟิตเนสทั่วประเทศที่มีมูลค่ารวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท/ปี ทำให้บุคลากรผู้ฝึกสอนเทรนเนอร์ต้องตกงานไปหลายพันคน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และถูกสั่งปิดมากที่สุด แม้ว่าหลังโควิดจะกลับมาดำเนินการได้ ธุรกิจนี้ก็ได้รับความบอบช้ำอย่างรุนแรง ดังนั้นรัฐบาลควรจะมีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจนี้เป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้ที่เหลือรอดกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้”