รีเซต

ย้อนรอยสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 รอบ 10 ปี ต้นตอปัญหาในไทยมาจากไหน?

ย้อนรอยสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 รอบ 10 ปี ต้นตอปัญหาในไทยมาจากไหน?
TNN ช่อง16
21 มีนาคม 2567 ( 13:56 )
11
ย้อนรอยสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 รอบ 10 ปี ต้นตอปัญหาในไทยมาจากไหน?

วันนี้ (21 มี.ค. 67) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลผ่านเพจ โดยระบุว่า สถานการณ์จุดความร้อน (Hot Spot) รายวันของ ประเทศไทยช่วงต้นเดือนมี.ค. อ้างอิงจากระบบแสดงผลข้อมูลจุดความร้อนจากระบบ NASA FIRMS และ GISTDA แบบอัตโนมัติ เรียกได้ว่าปริมาณจุดความร้อนยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ด้วยจำนวนจุดความร้อนรวมทั่วประเทศ มากกว่า 1,000 จุด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยกึ่งหนึ่งเป็นจุดความร้อนที่ตรวจพบในพื้นที่ภาคเหนือ


ขณะเดียวกัน สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในช่วงต้นเดือนมี.ค. 67 อ้างอิงจากแอปพลิเคชัน "เช็คฝุ่น" พบว่าหลายจังหวัดยังอยู่ในโซนสีส้ม - สีแดง หรืออยู่ในระดับมีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ที่ประชาชนยังคงต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กกันต่อไป


ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ มีความเกี่ยวพันอย่างเป็นเหตุเป็นผลกัน คือ พื้นที่ใดเกิดไฟป่าขึ้น บริเวณรอบๆ ก็มักจะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งเป็นผลมาจากการเผาไหม้ในปริมาณที่มากเกินกว่าปกติ และสภาพอากาศท้องถิ่นที่ไม่ระบาย เช่นเดียวกับสถานการณ์จุดความร้อนในปัจจุบัน คือพื้นที่ทางภาคเหนือ มีจำนวนจุดความร้อนรายวันมากกว่าพื้นที่ในภูมิภาคอื่นๆ และเป็นพื้นที่ที่กำลังประสบกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก


อย่างไรก็ดี ข้อมูลภูมิสารสนเทศทำให้เข้าใจภาพรวมเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวมากขึ้น โดยจากข้อมูลสถิติย้อนหลัง 10 ปี เกี่ยวกับค่าเฉลี่ยจำนวนจุดความร้อน และค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน วิเคราะห์โดย GISTDA พบว่า


- ในช่วงเดือนม.ค. - ก.พ. พื้นที่ที่เกิดจุดความร้อนเฉลี่ยสูงสุด คือ ทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา แต่พื้นที่ที่พบว่ามีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเฉลี่ยสูงสุด กลับเป็นพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย

- ในช่วงเดือนมี.ค. - เม.ย. พื้นที่เกิดจุดความร้อนเฉลี่ยสูงสุด คือ ทางตอนเหนือของประเทศลาว ขณะเดียวกัน พื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเฉลี่ยสูงสุด กลับครอบคลุมทั้งภาคเหนือของประเทศลาว และภาคเหนือ ภาคกลาง บางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย


ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้เกิดลักษณะดังกล่าว คือ ‘กระแสลม’ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการพัดพาฝุ่นละอองกระจายไปยังพื้นที่ข้างเคียง ดังนั้นการจัดการกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก นอกจากจะต้องให้ความสำคัญกับจุดความร้อน หรือพื้นที่เผาไหม้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่แล้ว ยังต้องติดตามพื้นที่ข้างเคียง หรือประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด เพื่อความเข้าใจภาพรวมสาเหตุของปัญหา และนำมาซึ่งมาตราการการแก้ไขที่ตรงจุด ซึ่งที่ผ่านมา "เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ" เป็นเครื่องมือที่สามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี


ปัจจุบัน มีความร่วมมือสร้างความเข้าใจชั้นฝุ่นละอองที่กำลังปกคลุมเหนือชั้นบรรยากาศไทยไปอีกระดับ ด้วยเซนเซอร์ที่ติดตั้งบนเครื่องบิน เพื่อศึกษาการกระจายตัวของมลพิษตามความสูงต่างๆ ในชั้นบรรยากาศ (vertical profile) และนำมาปรับเทียบกับข้อมูลจากดาวเทียม ทั้งหมดนี้ก็เพื่อศึกษาทำความเข้าใจ และหาทางแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทยและภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง NASA ร่วมมือ GISTDA และอีกหลายหน่วยงานในไทย


ด้วยปัจจัยทางสภาพอากาศ ทั้งสภาพอากาศปิดไม่ระบาย และความแห้งแล้งที่กำลังเกิดขึ้น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เรายังคงต้องเผชิญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไปอีกสักระยะ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้การป้องกันที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง


สำหรับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในวันนี้ พบ 17 จังหวัดของประเทศ มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีส้ม  ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ อาทิ สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี สมุทรสงคราม นนทบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ แม่ฮ่องสอน ราชบุรี นครปฐม จันทบุรี ตราด


พื้นที่กรุงเทพมหานครเช้าวันนี้พบค่าฝุ่น PM2.5 ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั่วทุกเขตพื้นที่ โดย 5 อันดับแรก คือ ป้อมปราบศัตรูพ่าย 69.5 ไมโครกรัม ลาดพร้าว 68.8 ไมโครกรัม จอมทอง 68.4 ไมโครกรัม บางพลัด 68.4 ไมโครกรัม วัฒนา 68.4 ไมโครกรัม


ภาพจาก: AFP 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง