เกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธ ครั้งที่ 3 ในรอบไม่กี่สัปดาห์
North Korea: เกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธอีกครั้งในเช้าวันนี้ เป็นครั้งที่ 3 ในรอบไม่กี่สัปดาห์ ด้านทูตเกาหลีเหนือประจำ UN กล่าวปกป้องการยิงทดสอบขีปนาวุธทันที ต่อประชุมสมัชชาใหญ่ UN ว่า เกาหลีเหนือมีสิทธิ์ป้องกันตนเองและยิงทดสอบอาวุธ พร้อมแก้กฎ UN เรื่องการใช้ “สิทธิยับยั้ง” หรือวีโต้ เสนอให้เสียงส่วนใหญ่ของประเทศสมาชิก UN สามารถใช้สิทธิ์วีโต้ได้
สำนักข่าว Yonhap ของเกาหลีใต้ รายงานอ้างกองทัพเกาหลีใต้ระบุว่า เกาหลีเหนือยิงวัตถุไม่ทราบชนิด 1 ลูก ไปยังทะเลที่อยู่นอกชายฝั่งตะวันออกของเกาหลีเหนือในวันนี้ (28 กันยายน) ตามเวลาในเกาหลีใต้ ทางด้านกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นคาดว่า อาจเป็นขีปนาวุธแบบทิ้งตัว หรือ ballistic missile ที่เกาหลีเหนือยิงทดสอบไปในวันนี้
นับเป็นการยิงทดสอบขีปนาวุธเป็นครั้งที่ 3 ของเกาหลีเหนือในรอบไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม เพื่อประท้วงการซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา เกาหลีเหนือเพิ่งยิงทดสอบขีปนาวุธระบบใหม่เป็นครั้งแรก โดยยิงออกมาจากบนหลังคารถไฟที่อยู่บนราง เป็นการทดสอบระบบการยิงขีปนาวุธใหม่ ที่เกาหลีเหนือออกแบบขึ้นเพื่อตอบโต้กลับภัยคุกคามใด ๆ ที่คุกคามเกาหลีเหนือ
ทันทีที่ปรากฏข่าวการยิงทดสอบขีปนาวุธครั้งใหม่ของเกาหลีเหนือในเช้าวันนี้ ทางด้าน คิม ซอง ทูตเกาหลีเหนือประจำสหประชาชาติ หรือ UN ได้กล่าวปกป้องการยิงทดสอบดังกล่าวทันที ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ UN ที่นิวยอร์กเมื่อวานนี้ (27 กันยายน) ตามเวลาท้องถิ่นว่า เกาหลีเหนือมีสิทธิ์ป้องกันตนเองและทดสอบอาวุธ เนื่องจากสหรัฐฯ มีนโยบายเป็น “ปฏิปักษ์” ต่อเกาหลีเหนือ และกองทัพเกาหลีใต้และสหรัฐฯ เพิ่มการคุกคามต่อเกาหลีเหนือ พร้อมเรียกร้องอีกครั้งให้สหรัฐฯ ละทิ้งนโยบายเป็นปฏิปักษ์ต่อเกาหลีเหนือ
นอกจากนี้ ทูตเกาหลีเหนือยังเสนอให้แก้กฎการใช้สิทธิยับยั้ง หรือวีโต้ ให้เสียงส่วนใหญ่ของประเทศสมาชิก UN ที่มี ทั้งหมด 193 ประเทศ สามารถยับยั้งมติของคณะมนตรีความมั่นคงได้ จากเดิมที่มีเพียง 5 ประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงเท่านั้น ที่สามารถใช้สิทธิ์วีโต้ได้ คือ สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, รัสเซีย และจีน
ทั้งนี้ เกาหลีเหนือเป็น 1 ในประมาณ 66 ประเทศสมาชิก UN ที่ยังไม่เคยได้เข้าเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงเลย โดยคณะมนตรีความมั่นคงมีสมาชิกทั้งหมด 15 ชาติ ถาวร 5 ชาติ และไม่ถาวรอีก 10 ชาติ สมาชิกไม่ถาวรดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี