รีเซต

ไขข้อสงสัย หากเคยติดโควิดมาก่อน จะช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรงได้นานเพียงใด?

ไขข้อสงสัย หากเคยติดโควิดมาก่อน จะช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรงได้นานเพียงใด?
TNN ช่อง16
18 กุมภาพันธ์ 2566 ( 08:33 )
202

หมอธีระ เผยงานวิจัย หากเคยติดเชื้อมาก่อน จะช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรงได้นานเพียงใด? เช็กรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่


ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า  

"18 กุมภาพันธ์ 2566

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 87,301 คน ตายเพิ่ม 519 คน รวมแล้วติดไป 678,367,359 คน เสียชีวิตรวม 6,788,478 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน รัสเซีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 87.4 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 75.72


อัปเดตการระบาดในอเมริกา

ล่าสุดข้อมูลจาก US CDC ชี้ให้เห็นว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron XBB.1.5 ได้ครองการระบาดทั่วประเทศแล้ว ตรวจพบกว่า 80% ของการติดเชื้อใหม่ทั้งหมด และเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดทั่วทุกภูมิภาคของอเมริกา

...อัพเดตความรู้โควิด-19


"หากเคยติดเชื้อมาก่อน จะช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรงได้นานเพียงใด?"

ถ้าเราจำกันได้ เคยนำเสนอข้อมูลวิชาการที่ชี้ให้เห็นแล้วว่า การฉีดวัคซีนนั้นมีประโยชน์ ช่วยลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้แน่นอน อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการลดเสี่ยงป่วยรุนแรงนั้นจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉลี่ยแล้วจะป้องกันได้ราว 7-11 เดือน คำถามที่หลายคนค้างคาใจกันมานานว่า ถ้าเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนล่ะ จะเกิดภูมิคุ้มกันในร่างกายแล้วช่วยลดเสี่ยงติดเชื้อซ้ำ ลดป่วย และลดป่วยรุนแรงได้จริงไหม และได้นานเท่าใด

งานวิจัยล่าสุดเผยแพร่ในวารสารการแพทย์ระดับสากล The Lancet เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ทำการทบทวนงานวิจัยทั่วโลกอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์อภิมาน เพื่อหาคำตอบให้เรา ผลการศึกษาจากงานวิจัย 65 ชิ้นจาก 19 ประเทศทั่วโลก พบว่า 

...การติดเชื้อซ้ำ (Reinfection)...

การที่เคยติดเชื้อมาก่อนจะช่วยลดเสี่ยงติดเชื้อซ้ำสำหรับสายพันธุ์ก่อนๆ (สายพันธุ์ดั้งเดิม, อัลฟ่า, และเดลต้า) ได้ราว 78% ณ 10 เดือน แต่การติดเชื้อมาก่อนนั้น จะลดเสี่ยงติดเชื้อซ้ำจากสายพันธุ์ Omicron (BA.1 และ BA.2) ได้น้อยลงมาก เหลือราว 50% ณ 3 เดือนเท่านั้น และเหลือเพียง 36% ณ 10 เดือน

...การติดเชื้อแล้วมีอาการป่วย (symtomatic infection)...

การที่เคยติดเชื้อมาก่อนจะช่วยลดเสี่ยงติดเชื้อแล้วป่วย สำหรับสายพันธุ์ก่อนๆ (สายพันธุ์ดั้งเดิม, อัลฟ่า, และเดลต้า) ได้ราว 75% ณ 12 เดือน แต่การติดเชื้อมาก่อนนั้น จะลดเสี่ยงติดเชื้อแล้วป่วย จากสายพันธุ์ Omicron (BA.1) ได้น้อยลงมาก เหลือราว 50% ณ 6 เดือนเท่านั้น และเหลือเพียง 25% ณ 12 เดือน

...การป่วยรุนแรง (severe disease)...

การที่เคยติดเชื้อมาก่อนจะช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรง สำหรับสายพันธุ์ก่อนๆ (สายพันธุ์ดั้งเดิม, อัลฟ่า, และเดลต้า) รวมถึงจากสายพันธุ์ Omicron (BA.1) ได้ราว 80-90% ณ 12 เดือน


ผลการศึกษาข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า ในยุคปัจจุบันที่มีการระบาดของสายพันธุ์ Omicron ตั้งแต่ปีก่อนและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนั้น แม้คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็จะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้มากหลัง 3 เดือนเป็นต้นไป นอกจากนี้ติดเชื้อแล้วก็มีโอกาสเกิดอาการป่วยได้เช่นกัน 

ในขณะที่ประสิทธิภาพในการป้องกันหรือลดเสี่ยงป่วยรุนแรงนั้น การติดเชื้อมาก่อนนั้นจะช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรงได้ราว 12 เดือน ระยะเวลาเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนดังที่เราเห็นจากการศึกษาก่อนหน้านี้ นี่จึงอาจเป็นเหตุผลอธิบายปรากฏการณ์ที่ทั่วโลกมีอัตราการป่วยนอนโรงพยาบาลและเสียชีวิตลดลงในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนแล้ว ยังน่าจะมาจากการที่ในช่วงปีที่ผ่านมานั้นมีคนติดเชื้อจำนวนมากมายด้วย เน้นย้ำกันอีกครั้งว่า การติดเชื้อแต่ละครั้งก็ตามมาด้วยความเสี่ยงเสมอ ทั้งเรื่องป่วย ป่วยรุนแรง ตาย และ Long COVID นอกจากนี้ประสิทธิภาพในการป้องกันนั้นย่อมลดน้อยถอยลงได้ตามกาลเวลา พฤติกรรมป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องจำเป็น 

และที่สำคัญอีกเรื่องคือ การฉีดวัคซีน ถือเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีความเสี่ยงในชีวิตประจำวัน รวมถึงคนสูงอายุ มีโรคเรื้อรัง อ้วน น้ำหนักเกิน ฯลฯ

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด

ระมัดระวังพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง

ช่วยกันปรับปรุงสภาพแวดล้อม ที่อยู่ ที่กินดื่ม ที่ทำงาน ที่เรียน ให้ระบายอากาศให้ดีกว่าในอดีต

ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดเสี่ยงโควิด-19 และ PM2.5 ลงไปได้มาก

อ้างอิง

Past SARS-CoV-2 infection protection against re-infection: a systematic review and meta-analysis. The Lancet. 16 February 2023."





ภาพจาก รอยเตอร์/AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง