รีเซต

เปิดแผนขนส่ง อีอีซี ดึงเอกชนลงทุน1.4หมื่นล้านบาท

เปิดแผนขนส่ง อีอีซี  ดึงเอกชนลงทุน1.4หมื่นล้านบาท
TNN ช่อง16
22 กรกฎาคม 2563 ( 18:47 )
50

คืบหน้าโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา ระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี  โดยขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)  ได้จัดรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2   และกำลังรวบรวมความคิดเห็นหลังจากมีการนำเสนอผลการศึกษาขั้นสุดท้ายในการจัดทำแผนแม่บทดังกล่าว 

สำหรับผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ รูปแบบการลงทุน และวิธีการ นำไปสู่การปฏิบัติ พบว่า ภาพรวมการเชื่อมโยงพื้นที่เมืองด้วยระบบขนส่งสาธารณะ จะจัดทำเป็น 3 ระบบ คือ ระบบขนส่งสาธารณะหลัก เชื่อมโยง แหล่งกิจกรรมสำคัญระหว่างภูมิภาค และโครงสร้างพื้นฐาน, ระบบขนส่งสาธารณะรอง เชื่อมโยง ระบบหลักและแหล่งกิจกรรมสำคัญ ระหว่างเมืองในเขตเมือง , และระบบขนส่งสาธารณะเสริม เชื่อมโยง แหล่งกิจกรรมย่อยในเขตเมือง หรือพื้นที่อยู่อาศัยเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะสายรอง  

แผนแม่บทดังกล่าวจะพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ 3 รูปแบบ คือ รถโดยสารไฟฟ้า  (EV bus) รถโดยสารไฟฟ้าขนาดเล็ก (EV minibus) และรถไฟฟ้าล้อยาง (Tram bus) แนวเส้นทางศึกษา 3 จังหวัด รวม 18 เส้นทาง จะเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะจาก 7% เป็น 14% ของการเดินทาง รวมทั้งลดอุบัติเหตุได้ 30% ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 125 ล้านลิตรต่อปี ประหยัด 2,500 ล้านบาทต่อปี คำนวณจากราคาน้ำมันลิตรละ 20 บาท และจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และ PM10 ส่วนความคุ้มค่าการลงทุน พบว่า ระบบขนส่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคม  (EIRR)  19.1% ส่วนชลบุรี 21.0% และระยอง 20.9%

ทั้งนี้ สนข.ประเมินงบลงทุนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะรวม 14,400 ล้านบาท แบ่งเป็น ช่วงก่อสร้างที่มีค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน  ค่าก่อสร้างงานโยธา ค่าจัดซื้อขบวนรถโดยสาร และค่างานระบบ 7,600 ล้านบาท ระบบขนส่งฉะเชิงเทรา จะใช้งบ 1,207 ล้านบาท ชลบุรี 2,832 ล้านบาท และระยอง 3,543 ล้านบาท รวมทั้ง ช่วงเปิดให้บริการจะมีค่าดำเนินงาน 3,900 ล้านบาท และ ค่าบำรุงรักษา 2,900 ล้านบาท พร้อมประเมินว่าจะเริ่มลงทุนในส่วนของค่าก่อสร้างงานโยธาและค่างานระบบ รวมไปถึงค่าจัดซื้อขบวนรถโดยสาร ในช่วง ปี 2566 หลังจากนั้น ในปี 2567 เป็นต้นไป จะเริ่มเปิดให้บริการ ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ ก่อนจะลงทุนค่าจัดซื้อขบวนรถโดยสาร อีกครั้ง ในช่วงปี 2576 ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ในรูปแบบ เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) โดยรัฐ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และบริษัทเอกชน ตามความเหมาะสม

ส่วนของรูปแบบระบบขนส่งสาธารณะ แบ่งเป็น ช่องทางเฉพาะ (Exclusive  Lane) และช่องทางร่วมกับรถทั่วไป (Shared Lane) โดยศึกษาแนวเส้นทางระบบ ขนส่งสาธารณะที่เสนอให้พัฒนา ดังนี้ แนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะ จังหวัดฉะเชิงเทรา   สนข.ได้คัดเลือกแนวเส้นทางที่ 1 HSR ฉะเชิงเทรา-โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2-ตะวันออกคอมเพล็กซ์ เป็นโครงการนำร่อง ระยะทาง 8 กิโลเมตร ในรูปแบบ EV Bus ค่าโดยสาร 10 บาท ตลอดสาย ผู้โดยสารปี 2567 อยู่ที่ 2,700 คนต่อวัน แนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะ จังหวัดชลบุรี  สนข.ได้คัดเลือกแนวเส้นทางที่ 6 เมืองศรีราชา-HSR ศรีราชา-นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ระยอง (ปลวกแดง) เป็นโครงการนำร่อง  ระยะทาง 42 กิโลเมตร ในรูปแบบ EV Bus ค่าโดยสาร 10-45 บาท ผู้โดยสารปี 2567 อยู่ที่ 1,900 คนต่อวัน แนวเส้นทางระบบขนส่งสาธารณะ จังหวัดระยอง  สนข.ได้คัดเลือกแนวเส้นทางที่ 1 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-นิคมอุตสาหกรรม IRPC เป็นโครงการนำร่องระยะทาง 22 กิโลเมตร ในรูปแบบ EV Minibus ค่าโดยสาร 10-45 บาท  ผู้โดยสารปี 2567 อยู่ที่ 1,200 คนต่อวัน


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com 
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live 
twitter : TNNONLINE 
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE 
Instagram : TNN_ONLINE 
TIKTOK : @TNNONLINE


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง