ดาวเทียมสำรวจสุริยะจีนตรวจพบ 'การลุกจ้าของแสงสีขาวบนดวงอาทิตย์' กว่า 100 ครั้ง
(แฟ้มภาพซินหัว : จรวดลองมาร์ช-2ดี ซึ่งขนส่งดาวเทียมสำรวจดวงอาทิตย์ ทะยานออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 9 ต.ค. 2022)
หนานจิง, 7 พ.ค. (ซินหัว) -- หอดูดาวจื่อจินซาน สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เปิดเผยว่าหอสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ในอวกาศขั้นสูง (ASO-S) หรือดาวเทียม "ควาฟู่-1" (Kuafu-1) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจดวงอาทิตย์ของจีน ได้ตรวจพบการลุกจ้าของแสงสีขาวบนดวงอาทิตย์ (solar white-light flares) มากกว่า 100 ครั้งแล้ว นับตั้งแต่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนตุลาคม 2022
อนึ่ง การลุกจ้าของแสงสีขาวบนดวงอาทิตย์เป็นการลุกจ้า (flare) ประเภทหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นการแผ่รังสีที่เพิ่มขึ้นในสเปกตรัมแบบต่อเนื่อง (continuous spectrum) ของแสงที่มองเห็นได้ โดยการลุกจ้าเหล่านี้มักมีพลังงานสูงและอาจส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศในอวกาศ ส่งผลให้การสื่อสารภาคพื้นดินขัดข้องหรือหยุดชะงัก รวมทั้งรบกวนการทำงานตามปกติของยานอวกาศ
รายงานระบุว่าก่อนการปล่อยดาวเทียมควาฟู่-1 มีการสังเกตการณ์และการรายงานเกี่ยวกับการลุกจ้าของแสงสีขาวบนดวงอาทิตย์อยู่เพียงราว 300 ครั้ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนการปะทุลุกจ้าทั้งหมด
ทีมวิจัยดาวเทียมควาฟู่-1 ได้วิเคราะห์การลุกจ้าพลังงานสูง จำนวน 205 ครั้งที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม 2022-พฤษภาคม 2023 โดยในจำนวนนี้ตรวจพบการลุกจ้าของแสงสีขาวบนดวงอาทิตย์จำนวน 49 ครั้ง ส่งผลให้อัตราการเกิดการลุกจ้าของแสงสีขาวบนดวงอาทิตย์อยู่ที่ร้อยละ 24 ซึ่งมากกว่าข้อมูลจากการสังเกตการณ์ก่อนหน้านี้อย่างมีนัยสำคัญ
กานเว่ยฉวิน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำภารกิจควาฟู่-1 และนักวิจัยจากหอดูดาวฯ ระบุว่าข้อมูลการสำรวจจากหอสังเกตการณ์ฯ บ่งชี้ว่าการลุกจ้าของแสงสีขาวบนดวงอาทิตย์ไม่ได้หายากอย่างที่คิดไว้ โดยทีมงานจะรวบรวมการสังเกตการณ์หลายช่วงความยาวคลื่น (multi-wavelength) จากดาวเทียมดวงอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษาทำความเข้าใจการลุกจ้าของแสงสีขาวและใช้เป็นพื้นฐานทางทฤษฎีสำหรับการพยากรณ์อากาศในอวกาศของประเทศ
หอสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ในอวกาศขั้นสูง เป็นดาวเทียมสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์แบบครอบคลุมที่ใช้สำหรับการวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยดาวเทียมดวงนี้ถูกส่งมอบให้แก่หอดูดาวจื่อจินซานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน 2023
ดาวเทียมข้างต้นได้บันทึกข้อมูลดิบเกี่ยวกับการสำรวจดวงอาทิตย์ประมาณ 600 เทระไบต์นับตั้งแต่การปล่อยตัว ซึ่งช่วยส่งมอบข้อมูลจำนวนมากสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
การศึกษาใหม่นี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารโซลาร์ ฟิสิกส์ (Solar Physics) และดิ แอสโตรฟิสิคอล เจอร์นัล เลตเตอร์ส (The Astrophysical Journal Letters) เมื่อไม่นานนี้