รีเซต

'ดีอีเอส' ลงพื้นที่ จ.พังงา ตรวจศูนย์ดิจิทัลชุมชน-ไทยแลนด์โพสต์มาร์ท หวังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

'ดีอีเอส' ลงพื้นที่ จ.พังงา ตรวจศูนย์ดิจิทัลชุมชน-ไทยแลนด์โพสต์มาร์ท หวังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
มติชน
2 พฤศจิกายน 2563 ( 16:08 )
111
'ดีอีเอส' ลงพื้นที่ จ.พังงา ตรวจศูนย์ดิจิทัลชุมชน-ไทยแลนด์โพสต์มาร์ท หวังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

วันที่ 2 พฤศจิกายน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.พังงา พร้อมนำคณะผู้บริหารกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัด เยี่ยมชมศูนย์ดิจิทัลชุมชน วิทยาลัยชุมชนพังงา และโครงการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าชุมชนผ่านไปรษณีย์ไทย (ไทยแลนด์โพสต์มาร์ท) ซึ่งมีผลสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เร่งการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ สร้างงานในพื้นที่โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มฐานราก เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย และเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ผ่านออนไลน์

 

โดยศูนย์ดิจิทัลชุมชน ตั้งอยู่ในวิทยาลัยชุมชนพังงา ต.บ่อแสน อ.ทับปุด จ.พังงา กลุ่มผู้ใช้งานเป็นเด็ก เยาวชน ประชาชนและกลุ่มแม่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือ เกษตรกรรม ประมง และรับจ้าง และเป็นหนึ่งในศูนย์ดิจิทัลชุมชนตามแผนการนำร่อง 250 แห่ง ที่มีการปรับรูปแบบการให้บริการศูนย์ฯ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนในชุมชน เช่น วันเสาร์-อาทิตย์ จัดอบรมการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตให้กับประชาชนทั่วไป เป็นต้น

 

 

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ได้รับแนวนโยบายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ประชาชนทุกพื้นที่เข้าถึงการใช้อินเตอร์เน็ต มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่ช่วยสนับสนุนทั้งด้านการศึกษาให้เด็กๆ ให้กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน มาใช้ทำการค้าขายออนไลน์ และใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ด้วย

 

“กระทรวงดีอีเอส ผลักดันให้เกิดศูนย์ดิจิทัลชุมชนทั่วประเทศ ปี 2563 ได้ตั้งแล้ว 250 ศูนย์ ปีหน้า 2564 กำลังจัดตั้งอีก 250 ศูนย์ ให้ครบ 500 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยการค้าขายออนไลน์สามารถเชื่อมต่อการขายผ่านเว็บไซต์ของไปรษณีย์ไทยได้ ทั้งนี้ อุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ผ่านมามีการซื้อเครื่องใหม่ประจำศูนย์แต่เมื่อเครื่องเสีย ไม่มีใครดูแลซ่อมแซม เมื่อเข้ามาดูแลกระทรวงดีอีเอส จึงได้ให้แนวทางในการใช้ระบบเช่าอุปกรณ์ เพื่อเวลาที่เครื่องเสียจะมีพนักงานเจ้าหน้าที่ เข้ามาซ่อมแซมให้ทันที เพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายการบริหารจัดการงบประมาณให้เกิดความคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ขอให้ประชาชนในชุมชนเข้ามาใช้ ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัวและชุมชนให้มากที่สุด” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

 

ทั้งนี้ ได้เยี่ยมชมบูธโครงการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าชุมชนผ่านไปรษณีย์ไทย (Thailandpostmart) ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) โดยมีตัวแทนชุมชนจากหลายพื้นที่ของ จ.พังงา และผู้ผลิตสินค้าร่วมกันมานำเสนอสินค้า ที่ปัจจุบันวางจำหน่ายผ่าน e-Marketplace ของ www.Thailandpostmart.com ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านปริง ปณอ.พังงา 104 วิสาหกิจ ชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเขาตำหนอน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล ท่าปากแหว่ง และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพังงา

 

 

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอส ให้นโยบายกับหน่วยงานใต้สังกัดเพื่อช่วยเข้าไปช่วยเหลือให้ชุมชนทุกพื้นที่ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของรัฐครอบคลุมถึง ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ และสอดคล้องกับบริบทความต้องการของคนในชุมชน โดยในส่วนของการจำหน่ายสินค้าชุมขนออนไลน์ผ่าน Thailandpostmart จะมี ปณท เข้าไปช่วยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชนทั่วประเทศ สร้างการเข้าถึงช่องทางการตลาด พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งใช้ศักยภาพของ ปณท ทั้งเครือข่ายที่ทำการไปรษณีย์กว่า 5,000 แห่ง พนักงานมากกว่า 40,000 คน ระบบการขนส่งที่ครอบคลุมและเข้าถึงทุกชุมชน เข้าไปสนับสนุน

 

สำหรับไทยแลนด์โพสต์มาร์ท หรือโครงการดิจิทัลชุมชนด้านอี-คอมเมิร์ซ ได้พัฒนาระบบงานเพื่อสนับสนุน การดำเนินงานโครงการ ใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบร้านค้าออนไลน์ (e-Marketplace) ที่ทันสมัยเพื่อให้ชุมชน ผู้ประกอบการ และประชาชนสามารถนำสินค้าหรือบริการมาขึ้นทะเบียนจำหน่ายบนเว็บไซต์ www.thailandpostmart.com ที่ทำงานได้ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ แทบเล็ต คอมพิวเตอร์

 

2.การพัฒนาระบบการชำระเงิน (e-Payment) เพื่อรองรับธุรกรรมการชำระเงินจากผู้สั่งซื้อสินค้า และการจ่ายเงินค่าสินค้าให้กับผู้ประกอบการได้อย่างสะดวก ทันสมัย ปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่ง ปณท ได้มีพันธมิตรร่วมดำเนินการ ในเรื่องช่องทางการชำระเงิน (Payment Gateway) เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินได้ทุกช่องทาง

 

และ 3. การพัฒนาระบบการขนส่ง (e-Logistics) พัฒนาระบบการแจ้งเตือนข้อมูลคำสั่งซื้อไปยังที่ทำการไปรษณีย์ต้นทาง และผู้จำหน่ายสินค้าเพื่อเตรียมการจัดส่งสินค้า วางเส้นทางและรูปแบบ วิธีการขนส่งสินค้าให้เหมาะกับสินค้าแต่ละประเภท เช่น ระบบการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ สำหรับการขนส่งผลผลิตการเกษตร อาหาร การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งที่มีมาตรฐาน ลดการสูญเสีย เป็นต้น ระบบการแสดงสถานะ การขนส่งเพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้สั่งซื้อใช้ตรวจสอบรายการสั่งซื้อสินค้าได้อย่างสะดวก ทันสมัยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง