รีเซต

ยืนยัน! อุบลราชธานี น้ำท่วมแน่นอน มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณฝน

ยืนยัน! อุบลราชธานี น้ำท่วมแน่นอน มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณฝน
TNN ช่อง16
25 สิงหาคม 2565 ( 06:20 )
127
ยืนยัน! อุบลราชธานี น้ำท่วมแน่นอน มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณฝน

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ดูการสูบน้ำจากลำน้ำสาขาแม่น้ำมูล ที่เอ่อล้นเข้าท่วมชุมชนลุ่มต่ำในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ กลับลงแม่น้ำมูล ที่ประตูน้ำวัดเสนาวงศ์ ชุมชนท่าบ้งมั่ง โดยขณะนี้ ได้มีการอพยพชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบหนีน้ำไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว แล้ว 25 ครอบครัว


รองเลขาธิการ สทนช. บอกว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำฝนบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 24-29 สิงหาคม พบว่าในหลายพื้นที่จะมีปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมาก จึงคาดว่าจะส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร  จึงขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง ตามแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขาเช่น 


ลำน้ำลำปะทาว จังหวัดชัยภูมิ  

ลำน้ำยัง จังหวัดร้อยเอ็ด แม่น้ำชี แม่น้ำมูล 

ลำน้ำเซบก 

และลำน้ำลำโดมของจังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงนี้  


โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี ที่อยู่ปลายน้ำขนาดใหญ่ คาดการณ์ว่า ถ้าฝนตกธรรมดาระดับน้ำจะอยู่ในระดับเตือนภัย และท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งทางการเข้าให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่ถ้าเจอพายุอีกสักหนึ่งลูก ระดับน้ำจะล้นตลิ่ง โดยจะได้รับผลกระทบมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน เพราะจังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ปลายน้ำมีความเสี่ยงสูง แต่มีการเตรียมการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบไว้แล้ว


ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาปัญหาระยะยาว พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่าง รวมทั้งลำน้ำเซบาย-เซบก และลุ่มน้ำมูลตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบกับปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในเกณฑ์สูง 

สทนช. ได้ศึกษาแผนบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่ 8.94 ล้านไร่ ครอบคลุม 395 ตำบล 50 อำเภอ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี  ในโครงการแนวผันน้ำชี-เซบาย-เซบก-ตุงลุง-แม่น้ำโขง ความยาวประมาณ 180 กิโลเมตร เพื่อเบี่ยงน้ำส่วนเกินของแม่น้ำชี  ไปเสริมเป็นน้ำใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมฝั่งขวา ที่มักเกิดปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูฝนได้ 2.2 ล้านไร่ แทนการปล่อยให้ไหลตามธรรมชาติ แล้วล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำชีที่อยู่ท้ายน้ำ และลดปริมาณน้ำของแม่น้ำชี ที่จะไหลมารวมกันกับแม่น้ำมูลที่จังหวัดอุบลราชธานีในช่วงน้ำหลาก  โดยไม่ให้น้ำไหลผ่านตัวเมืองอุบลราชธานีเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA 

 



ภาพ TNNONLINE  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง