รีเซต

โควิด-19 : ผู้รอดชีวิตจาก “วิกฤตต้มยำกุ้ง” 2540 ต่อสู้อย่างไรในวิกฤตไวรัสโคโรนา

โควิด-19 : ผู้รอดชีวิตจาก “วิกฤตต้มยำกุ้ง” 2540 ต่อสู้อย่างไรในวิกฤตไวรัสโคโรนา
บีบีซี ไทย
2 กรกฎาคม 2563 ( 12:50 )
186
โควิด-19 : ผู้รอดชีวิตจาก “วิกฤตต้มยำกุ้ง” 2540 ต่อสู้อย่างไรในวิกฤตไวรัสโคโรนา

ย้อนหลังไปเมื่อ 2 ก.ค. 2540 ในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หลังธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปหมดคลังในการต่อสู้กับการโจมตีค่าเงินจากนักเก็งกำไรระดับโลก

ผ่านไป 23 ปี เศรษฐกิจไทยสั่นคลอนอีกครั้งจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่เริ่มระบาดจากจีนเมื่อปลายปีที่แล้ว ก่อนลุกลามส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ สาธารณสุขและสังคมไปทั่วโลก

"มันคนละสเกล (ขนาด) เลยนะครับ เพราะวิกฤตครั้งนี้กระทบคนไทย 67 ล้านคน จากคนที่รวยสุดและคนจน ต่างชาติก็แย่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นชาติมีที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ก็มีปัญหา" ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ เจ้าของกิจการศิริวัฒน์แซนด์วิช บอกกับบีบีซีไทย

ศิริวัฒน์ คือ หนึ่งในตัวละครสำคัญในวิกฤตการเงินของเอเชียปี 2540-2541 ที่เริ่มจากไทยแล้วลามไปทั่วทวีปเอเชีย จนได้ชื่อเล่นเชิงประชดประชันว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง

ก่อน "ฟองสบู่" ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ และการเงินจะ "แตก" ศิริวัฒน์ เฟื่องฟูจากการเป็นนักลงทุนหุ้นวงเงินนับพันล้านบาท เมื่อเงินหาง่าย เขาจึงผันตัวมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่กลับต้องล้มละลายลง เมื่อ "ฟองสบู่แตก" สถาบันการเงินต้องปิดตัวลงมากมาย เพราะขาดสภาพคล่อง และราคาที่ดินที่เคยพุ่งพรวดพราดก็ดิ่งลงเรี่ยดิน

ศิริวัฒน์ เล่าว่า หลังการลดค่าเงินบาท เกิดวิกฤตเศรษฐกิจระหว่างปี 2540-2541 คนที่ได้รับผลกระทบในช่วงนั้นเป็นกลุ่มนายทุนในธุรกิจสถาบันการเงิน ตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ และกระจุกตัวอยู่เพียงราว 2-3 แสนคนเท่านั้น เทียบไม่ได้กับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เป็นจำนวนหลายล้านคน

สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ คาดการณ์เมื่อ พ.ค.ที่ผ่านมา ว่าในปีนี้มีแรงงานที่เสี่ยงถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน ส่วนเด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 5.2 แสนคนอาจไม่มีงานทำ

โจทย์เศรษฐกิจที่โหดกว่าเดิม

ย้อนกลับไปสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง การลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้หนี้สินของรัฐและเอกชน ที่กู้มาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นหลายเท่า ลูกหนี้จำนวนมากขอเจรจาลดหนี้กับธนาคารที่ต้องไประดมทุนเพิ่มจากนักลงทุนต่างประเทศ ในส่วนของรัฐบาลก็ต้องปรับโครงสร้างทางกฎระเบียบการกู้ยืมของสถาบันการเงิน เพิ่มวินัยการเงิน การคลัง ขณะเดียวกัน ก็หันมาส่งเสริมการส่งออก และดึงดูดชาวต่างชาติให้มาท่องเที่ยวในประเทศในยามที่ค่าเงินบาทอ่อน

"ข้อดีของการปล่อยลอยตัวค่าเงินบาทคือ ทำให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายถูกลง และเป็นจุดเริ่มต้นที่ไทยกลายเป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ และทำให้นับตั้งแต่นั้นมา เศรษฐกิจไทยหันมาพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น" ศิริวัฒน์ระบุ

อย่างไรก็ตาม ตามความเห็นของนักธุรกิจรายนี้ ความได้เปรียบที่ไทยได้รับตลอดกว่า 20 ปีนั้นกลับกลายเป็นจุดอ่อนในวิกฤตจากโรคระบาดที่กำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ เนื่องจาก ประเทศคู่ค้าก็ล้วนเผชิญปัญหาเศรษฐกิจอ่อนแอจากโรคระบาด ส่วนการปิดประเทศเพื่อสกัดการระบาดของโรค ก็ส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป

https://www.facebook.com/sirivatsandwich/photos/a.702132863167491/3133392410041512/

ในขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค. - พ.ค.) ที่ผ่านมา ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า การส่งออกมูลค่า 3 ล้านล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 หรือราว 5.18% ในขณะที่เดือนพ.ค. เดือนเดียวมีมูลค่า 5.24 แสนล้านบาทลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 20.91%

ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า คนไทยกว่า 8.3 ล้านคนเสี่ยงตกงาน โดยเฉพาะในธุรกิจภาคบริการ เพราะไทยต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวถึง 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ จีดีพีของประเทศ

ปิดประเทศ ชีวิตเปลี่ยนอีกครั้ง

การประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลาย มี.ค. รวมถึงมาตรการป้องกันต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือการปิดสนามบินนานาชาติทั้งขาเข้าและขาออก ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวและสายการบินต้องยุติการดำเนินการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"วิกฤตครั้งนี้ เกี่ยวกับผมโดยตรง ผมก็หนีไม่พ้นอีกแล้ว" ทินกร อาวัฒนกุลเทพ เจ้าของธุรกิจทัวร์ญี่ปุ่นโซร่า แทรเวล บอกกับบีบีซีไทย

เช่นกันกับศิริวัฒน์และนักธุรกิจอีกหลายคน ทินกร โชคดีและโชคร้ายจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ก่อนฟองสบู่แตก เขาทำธุรกิจรับเหมาติดตั้งกระจกอะลูมิเนียมในอาคารต่าง ๆ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากความเฟื่องฟูในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกปั่นราคาให้สูงเกินจริงก่อนที่จะกลายเป็นฟองสบู่และแตกสลายในที่สุด

เมื่อฟองสบู่แตก เขาถูกเบี้ยวหนี้ ต้องเลิกกิจการ แล้วเลือกที่จะไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ฝึกฝนภาษา สร้างความคุ้นเคยกับพื้นที่จนผันตัวเองมาทำทัวร์ในญี่ปุ่น เขามีลูกค้าระดับบริษัทใหญ่มากมาย ที่เลือกพาลูกค้าหรือพนักงานที่ทำยอดได้ตามเป้ามาเที่ยว

ธุรกิจนำเที่ยวของเขาผ่านเรื่องร้าย ๆ มาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโรคซาร์สในปี 2546 เหตุการณ์สึนามิถล่มชายฝั่งอันดามันปี 2547 และอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ก็ถือว่าเป็นบทสอบครั้งสำคัญที่ทำให้เขาไม่รู้สึกตื่นเต้นมากเท่าไหร่

ชีวิตยังมีหวัง

"ตอนนี้ผมมองไปที่อนาคตแล้ว ยังหาข้อสรุปไม่ได้เกี่ยวกับการทำทัวร์ในระหว่างนี้ ผมก็ต้องมองหาธุรกิจมาเสริม" เขากล่าว

ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนให้เขารู้ว่าการเติบโตเกินความพอดีคือความเสี่ยงของธุรกิจ ดังนั้นเขาจึงคงขนาดขององค์กรให้มีความกระทัดรัด โดยมีลูกน้องเพียง 4 คน

เมื่อทำทัวร์ไม่ได้ ทินกรและทีมงานช่วยกันขายอาหารออนไลน์ เช่น เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ก๋วยจับญวนกึ่งสำเร็จรูป ขนมนำเข้าจากญี่ปุ่น เนื้อสดราคาสูงจากออสเตรเลียและญี่ปุ่น รวมทั้งขายเนื้อเกรดดีของไทยให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตในเชียงใหม่ ชลบุรี และภูเก็ต นอกจากนี้เขายังอาศัยเครือข่ายกลุ่มลูกค้าทัวร์เป็นช่องทางในการขาย นอกจากขายผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก

"เคยคุยผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ผ่านอุปสรรค วิกฤตและธุรกิจล้มละลาย เขาบอกว่า เราเหมือนนักรบ สู้มาตลอดชีวิต ร่างกายเต็มไปด้วยบาดแผล ถ้ายังมีลมหายใจ ก็ต้องสู้ ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มใหม่ได้อยู่ที่ว่า อย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา" เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม เขาก็หวังว่าจะได้กลับมาเริ่มทำทัวร์อีกครั้งในอนาคต

รู้จักพอ อย่าประมาท

สำหรับบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่สำคัญของศิริวัฒน์ คือ "อย่าทนงตัวมากเกินไป อย่างประมาท อย่าโลภที่อยากรวยเร็ว"

ในช่วงแรก ศิริวัฒน์ถือว่าเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่สื่อจับตามองในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์เอเชียในวัยเพียง 29 ปี หลังจากเขาสามารถทำกำไรหลายพันล้านบาท จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้เขามองหาธุรกิจใหม่ โดยกระโดดลงมาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งกำลังเฟื่องฟู แต่เมื่อเกิดวิกฤตฟองสบู่แตกเรื่องราวก็กลับตาลปัตร เพราะคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วกลับขายไม่ได้จึงมีหนี้ก้อนโต

Getty Images
ภาพถ่ายของศิริวัฒน์ กับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ล้มพังพาบหลังการปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวในปี 2540

เขาเล่าถึงเหตุการณ์ที่ต้องแจ้งพนักงานในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีอยู่ราว 40 คน ว่าจะต้องปิดกิจการมีพนักงาน เลิกจ้างพนักงานครึ่งหนึ่ง และมีบางส่วนบอกว่าอยากให้เขาช่วย จึงทำให้เขาปรึกษากับภรรยาของเขาว่าควรทำอะไรขายดี และได้คำตอบว่าเป็น "แซนด์วิช"

เพื่อความอยู่รอดของครอบครัวและลูกน้อง แม้ว่าจะต้องแลกกับคำสบประมาทจากคนทั่วไปและคนที่รู้จักที่ต้องมาขายแซนด์วิชข้างถนนจนบางครั้งต้องถูกเทศกิจเข้ามาไล่ อย่างไรก็ตาม เขาอดทนจนทำให้จะประสบความสำเร็จจนสามารถปลดหนี้สิ้นพันล้านบาท รวมทั้งพ้นสภาพการเป็นบุคคลล้มละลายในที่สุด

"อดีตแก้ไขไม่ได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตได้ คิดบวกอย่าจมอยู่กับอดีต ทั้งหมดอยู่ที่ตัวเรา" นักธุรกิจในวัย 71 ปี ที่กลายเป็นแรงบันดาลในให้กับการลุกขึ้นยืนจากวิกฤตอธิบาย

Getty Images

ปัจจุบันแม้ว่ายอดขายของเขาจะได้รับผลกระทบจากการมาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 จนทำให้ยอดขายในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาลดลงกว่าครึ่ง แต่เขามองว่าหลังจากการคลี่คลายมาตรการดังกล่าวเพิ่มเติม รวมทั้งการที่คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้นจะทำให้ยอดขายกลับมาได้บ้าง พร้อมกับการเริ่มขยายธุรกิจเช่นการเปิดเคาน์เตอร์เพิ่มตามสถานีรถไฟฟ้า รวมทั้งรับสมัครพนักงานขายและฝ่ายผลิตเพิ่มสำหรับคนที่กำลังหางาน หรือถูกเลิกจ้างและรายได้เสริม

"ยอมรับว่าได้รับผลกระทบเยอะนับตั้งแต่มีโควิด-19 มา ยอดขายแซนด์วิชก็ลดลงกว่า 50-70% เพราะคนไม่ออกมาข้างนอก ส่วนพนักงานของเราส่วนใหญ่ของยืนคล้องคอตามทางขึ้นบีทีเอส และบนบีทีเอส รายได้ของเด็กที่ขายแซนด์วิชก็ลดลงเยอะเหมือนกัน ปกติยืนระหว่าง 5-6 ชั่วโมงจะมีกำไร 600 - 800 บาท ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาก็ลดลงเหลือเพียง 200 บาทเท่านั้น 1 มิ.ย.เริ่มดีขึ้นแล้วเพราะคนเริ่มกลับเข้ามาแล้ว" เขาอธิบาย

เมื่อถามว่ามีการเตรียมความพร้อมอย่างไร เขาบอกว่า รับรู้สถานการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยไม่ดีมาตั้งแต่ปี 2561 แล้วจึงเริ่มปรับตัวโดยการลดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ยกเลิกจุดขายในห้าง และเปลี่ยนขนาดออฟฟิศลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย ที่สำคัญคือการไม่มีหนี้ และมองหาโอกาสใหม่ ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์อื่นมาเพิ่มเติมและเพิ่มช่องทางการขาย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง