รู้จัก'อาจารย์แหม่ม'กับบทบาทในตอนต่อไป
ไม่ใช่มาเล่นๆ“อาจารย์แหม่ม”สู่ตำแหน่ง รัฐมนตรี
ภาพโฆษกรัฐบาลใส่บิ๊กอาย นั่งแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ เรื่องสำคัญที่จะต้องแจ้งต่อประชาชนให้ทราบในฐานะ “โฆษกรัฐบาล” จะไม่ได้เห็น ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หรือ “อาจารย์แหม่ม” มานั่งแถลงข่าวอีกแล้ว
ถ้าดูจากภายนอก อาจจะมองว่าการมาเป็นโฆษกรัฐบาล ดูไม่ซับซ้อน แค่รายงานให้ทราบ อ่านตามสคริปต์ ที่เตรียมมาก็น่าจะเพียงพอ หรือจะตอบคำถาม ด้วยคำตอบที่ครอบคลุมทุกอย่าง ก็ไม่น่าจะมีอะไรยาก
แต่ในความที่ดูไม่น่ายาก กลับมีความ “ยาก” หลายอย่างซ่อนอยู่
จึงเป็นบทบาทหน้าที่สำคัญที่ โฆษกรัฐบาล จะต้องสื่อสารให้รู้เรื่องกับ “ผู้นำรัฐบาล” นั่นก็คือ นายกรัฐมนตรี ไม่เพียงสื่อสารเท่านั้น ต้องรู้ใจ เข้าใจ กันดีว่า ถ้าจะต้องพูดแทน ตอบคำถามแทน สารเหล่านั้นที่ออกไป จะทำให้คนฟังจินตนาการต่อว่า “ท่านผู้นำ” กำลังคิด หรือ รู้สึก อะไร
บทบาทของ โฆษกรัฐบาล โดย “อาจารย์แหม่ม” ได้สะท้อนออกมาเป็นที่ประจักษ์แล้ว
มาวันนี้ ท่ามกลางกระแสข่าว และสปอตไลท์ส่องไปที่ “เก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน” ที่มีชื่อ ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อาจจะได้มานั่งทำงานในตำแหน่งนี้ ได้รับความสนใจมากกว่า คนที่จะมาเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนี้ เสียอีก
ย้อนดูเส้นทางของ ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
เรื่องการศึกษา “อาจารย์แหม่ม” เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “มีความมุ่งมั่นอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ แม้ว่าฐานะทางบ้านไม่ได้ร่ำรวย แต่ในที่สุดก็สามารถสอบชิงทุนไปเรียนได้สำเร็จ” และเมื่อเรียนจบที่สหรัฐอเมริกาก็กลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ทำวิจัย จนทำตำแหน่งทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จนได้เป็น “ศาสตราจารย์” ที่นิด้า สถาบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
- สถิติศาสตรบัณฑิต (คณิตศาสตร์ประยุกต์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- Master of Science ที่ Georgia State University สหรัฐอเมริกา
- Master of Business Administration (Applied Economics) University of Pennsylvania สหรัฐอเมริกา
- Doctor of Philosophy (Finance) University of Pennsylvania สหรัฐอเมริกา
ในช่วงเส้นทางการเป็นนักวิชาการ ไม่เพียงงานสอนหนังสือ เธอยังมีบทบาทในงานหลายภาคส่วนจากข้อมูลที่ได้เปิดเผยในเอกแสดงทั้งภาคเอกชนด้วยการเป็นที่ปรึกษาในธนาคารหลายแห่ง งานบริหารภาคเอกชนในช่วงปี 2556-2561 เป็นกรรมการบริษัท 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท พรีไซซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 10 เม.ย. 2561-10 เม.ย. 2562 เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง
เส้นทางการเมือง
อาจารย์แหม่ม เคยเล่าถึงเส้นทางการเมืองของตัวเองเอาไว้ว่า ส่วนตัวมีความสนใจทางด้านการเมืองเป็นทุนอยู่แล้ว ไม่เพียงแค่สอนทางด้านเศรษฐศาสตร์ แต่ยังสอนรัฐศาสตร์มาด้วย การเข้าสู่การเมืองเพราะได้รู้จักกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อครั้งที่ ดร.สมคิดเว้นวรรคทางการเมือง อยู่บ้านเลขที่ 111 ในขณะที่เธอเป็นรองคณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งขณะนั้นได้มีส่วนเข้าไปช่วย “ดร.สมคิด” ทำงานในมูลนิธิสัมมาชีพ และร่วมก่อตั้งสถาบันอนาคตไทยศึกษา
จากนั้นในปี 2558 ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยงาน “พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะบอร์ดประกันสังคม กระทั่งต่อมาเมื่อ “พล.อ.ศิริชัย” ลาออก นายสมคิดจึงได้ชักชวนให้มาช่วยงานในกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอภิ
ภาพเมื่อครั้ง อ.แหม่ม ลงพื้นที่พบปะประชาชน สมัยยังทำงานเป็นที่ปรึกษา รมช.คลัง
ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งในพรรคพลังประชารัฐ ศ.ดร.นฤมล หรือ อ.แหม่ม เป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่างนโยบาย “ประชารัฐ” ของพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกับ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง แกนนำในพรรคพลังประชารัฐคนสำคัญอีกคนหนึ่ง และเธอยังเป็นผู้เขียนนโยบาย “มารดาประชารัฐ”เพื่อผลักดันในการหาเสียงมาแล้วด้วย อย่างไรก็ดี ในช่วงการปรับ ครม. แม้ว่าช่วงแรกที่มีข่าวว่าเธอจะไปเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล แต่แม้ไม่ได้ทำงานในส่วนนั้น เธอยังยืนยันว่างานเศรษฐกิจในพรรคพลังประชารัฐเป็นหน้าที่ที่ต้องร่วมกันผลักดันให้นโยบายที่หาเสียงไว้ไปสู่ความสำเร็จให้ได้ ภายใต้การถือธงนำพรรคพลังประชารัฐ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
ขณะเดียวกัน หากเป็นไปตามกระแสข่าวที่ออกมาว่า “อาจารย์แหม่ม” จะไปรับผิดชอบงานในกระทรวงแรงงาน ถือว่า จะเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน คนแรก (นับจากแยกตัวออกจาก กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม) ที่ตอนนี้ ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวง กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน (องค์การมหาชน ขึ้นกับกรมสวัสดิการฯ) ซึ่งอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าช่วงหนึ่ง “อาจารย์แหม่ม” เคยเป็นบอร์ดประกันสังคม หากมารับตำแหน่ง รมช.แรงงาน ต้องดูว่าจะได้ดูแลหน่วยงานที่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาหรือไม่
กำลังใจหลังบ้านของอาจารย์แหม่ม
ปัจจุบัน อาจารย์แหม่ม อายุ 47 ปี (เกิด พ.ศ.2516) สมรสกับ นายจุมพล ภิญโญสินวัฒน์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ มีบุตร 2 คน อายุ 9 และ 7 ขวบ ตามลำดับ
แนวคิดสำคัญในเส้นทางการเมือง
ครั้งหนึ่ง “อาจารย์แหม่ม” เคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า "เชื่อว่ามีคนอีกเยอะที่อยากเข้ามาทำงาน แต่กลัวการเมือง กลัวเข้ามาแล้วถูกขยำ เลยขอเป็นตัวอย่างว่าอยู่ได้ ยังไม่ตาย" ศ.ดร.นฤมล ได้บอกเล่าถึงเส้นทางการเมืองที่เธอเดินเข้ามาเพียงไม่กี่ปี แต่กำลังเติบใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่องตามลำดับต่อไป.