รีเซต

โป๊ะแตก! แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรอ้างเป็นศาลอาญา หารู้ไม่ผู้พิพากษารับสายเอง

โป๊ะแตก! แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรอ้างเป็นศาลอาญา หารู้ไม่ผู้พิพากษารับสายเอง
TNN ช่อง16
24 มีนาคม 2565 ( 19:46 )
209

วันนี้ ( 24 มี.ค. 65 )ยังเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ประชาชนอยู่เรื่อยๆสำหรับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่พยายามโทรหลอกลวงเหยื่อให้โอนเงิน โดยอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ เจ้าหน้าที่กรมศุลากร โดยล่าสุดได้แอบอ้างตนเองว่าเป็นเจ้าหน้าที่ศาลอาญาสูงสุด แต่หารู้ไม่ว่าเหยื่อรายล่าสุดนั้นเป็นผู้พิพากษาตัวจริงเสียงจริง ซึ่งเจ้าตัวได้โพสต์ประสบการณ์ดังกล่าวบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อเป็นการเตือนภัยประชาชน และ ให้ความรู้เกี่ยวกับศาล โดยระบุข้อความว่า 

“ศาลอาญาสูงสุดกรุงเทพ คุณมีหมายเรียก กรุณากด 9 เพื่อฟังรายละเอียด”

ขณะที่กำลังนั่งพิมพ์คำพิพากษาอยู่นั้น สายโทรศัพท์ต้องสงสัยโทรเข้ามาโดยมิได้นัดหมาย ฟังแล้วเป็นเสียงคอลเซนเตอร์น่าฟัง แต่พอฟังแล้วข้อความที่ได้ยิน มันดูจะแปลก ๆ 

1.ศาลอาญา ไม่มีสูงสด เพราะสูงที่สุดคือ ตึกแมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟรอนท์ เรสซิเดนซ์ ไอคอนสยาม อยากให้มิจฉาชีพทำการบ้านมาก่อน

2.ที่โทรมาเนี้ย เบอร์ผู้พิพากษาศาลอาญา ใจเย็น ๆ มีอะไรคุยกันได้

3.ถ้ามีหมายเรียก ก็ให้มีมาเลย เดี๋ยวไปตามหมาย ไม่อยากไปตามโทรศัพท์ ไม่อยากเชื่อคำพูดลวง ๆ จากเธอ

ฝากถึงประชาชน แก๊งคอลเซนเตอร์มีมาก อย่าโอ๊น อย่าโอน ตัวผมเองยังถูกโทรมา ทุกวันนี้ข้อมูลทุกอย่างอยู่ในอินเตอร์เน็ตสามารถค้นหาได้ เบอร์โทรศาลอาญาคือ  02-541-2284 ถึง 90 ไม่ใช่เบอร์ที่โทรมานี้ สงสัยโทรสอบถามได้  ตอนนี้หน่วยงานกำลังแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ระหว่างนี้ประชาชน อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ดูแลโทรศัพท์ และเงินในบัญชีของท่านให้ดี

ฝากถึงแก๊งมิจฉาชีพ เข้าใจว่าการทำแบบนี้รายได้ค่อนข้างสูง สูงมาก วันละ 10,000 ถึง 300,000 เลย แต่เข้าใจด้วยเถอะครับ ว่าวันนึงถ้าถูกหมายเรียกของศาลอาญาไปที่ท่านจริง ๆ ถ้าจะหนี อาจต้องหนีตลอดชีวิต จมอยู่ในความทุกข์ตลอดไป ถ้าข้างในสบายเขาคงไม่ออกมา ตั้งแต่ทำงานมา ตำรวจไทยเป็นตำรวจที่เก่งที่สุดในโลก อยู่ต่างประเทศ ก็ต้องใช้ชีวิตหลบ ๆ ซ่อน ๆ ต่อไป หยุดการกระทำแบบนี้แล้วมาใช้ชีวิตในแสงไฟเถอะครับ สนุกกว่าเยอะ

ขั้นตอนต่อไป เบอร์นี้โทรไปหลอกคนใกล้ตัวผมหลายคนแล้ว ก็คงต้องติดต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ

ทั้งนี้สตช.ได้ข้อมูลระบุว่ารูปแบบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกลวงประชาชน จำนวน 14 รูปแบบ ได้แก่ 

1.หลอกขายของออนไลน์ 

2.Call Center หลอกลวงข่มขู่ อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ให้เหยื่อโอนเงินให้ 

3.เงินกู้ออนไลน์ดอกเบี้ยโหด 

4.เงินกู้ออนไลน์ที่ไม่มีจริง (เงินกู้ทิพย์) 

5.หลอกให้ลงทุนต่างๆ โดยอ้างผลตอบแทนสูงที่ไม่มีจริง

 6.หลอกให้เล่นพนันออนไลน์ 

7.Romance scam หรือ Hybrid scam หลอกให้รักลวงเอาทรัพย์สิน ลวงให้ลงทุน 

8.ลิงก์ปลอมหลอกแฮกข้อมูลโทรศัพท์ 

9.แชท Line/Facebook ปลอม Account ลวงยืมเงิน

10.หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว - OTP 

11.ข่าวปลอม (Fake news) - ชัวร์ก่อนแชร์ 

12.หลอกลวงเอาภาพโป๊เปลือยเพื่อใช้แบล็คเมล์ 

13.โฆษณาออนไลน์ลวงทำงาน หลอกบังคับทำงานในต่างประทศ

14.ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน หรือฟอกเงิน ซึ่งสำนักงานฯ และโอเปอเรเตอร์จะช่วยกันประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลอุบายของมิจฉาชีพ

ขณะที่ทุกฝ่ายกำลังร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา Call Center และ SMS หลอกลวงอยู่นั้น สำนักงานอยากขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อโทรศัพท์ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ DSI พนักงานธนาคาร หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ อย่าเพิ่งให้ข้อมูลส่วนตัว หรือโอนเงินไปตามที่เขาขอ อย่ากดลิงก์ที่แนบมาพร้อม SMS ที่ไม่ทราบที่มา แต่ให้ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าสายที่โทรมา หรือผู้ที่ส่ง SMS มานั้นไม่ใช่มิจฉาชีพ เพื่อป้องกันการสูญเสียเงินทองของพี่น้องประชาชนเอง

ทำยังไงดีเมื่อเจอ ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง

- อย่าให้ข้อมูลส่วนบุคคล และกดวางสายทันที

- อย่าหลงเชื่อโอนเงิน

- อย่าคลิกลิงก์หรือเปิดไฟล์ที่ส่งจาก SMS หรืออีเมลต้องสงสัย

- หากโดนหลอก ให้รวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องและไปแจ้งความกับสถานีตำรวจในท้องที่


ข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก Watcharaphon Kupraditz/สตช.

ภาพจาก :  AFP/ Watcharaphon Kupraditz

ข่าวที่เกี่ยวข้อง