รีเซต

Editor’s Pick: ‘ตาลีบันครองแร่ล้ำค่าในอัฟกาฯ’ ทรัพยากรสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 อาจพลิกประเทศให้รวยที่สุดในภูมิภาค

Editor’s Pick: ‘ตาลีบันครองแร่ล้ำค่าในอัฟกาฯ’ ทรัพยากรสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 อาจพลิกประเทศให้รวยที่สุดในภูมิภาค
TNN World
20 สิงหาคม 2564 ( 09:55 )
121
Editor’s Pick: ‘ตาลีบันครองแร่ล้ำค่าในอัฟกาฯ’ ทรัพยากรสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 อาจพลิกประเทศให้รวยที่สุดในภูมิภาค
 
การล่มสลายอย่างรวดเร็วของรัฐบาลอัฟกานิสถาน ไม่เพียงทำให้กลุ่มตาลีบันหวนคืนสู่อำนาจ แต่ยังได้ครองแร่ธาตุล้ำค่าในประเทศที่มีมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ราว 33.3 ล้านล้านบาทเอาไว้ด้วย
เรื่องนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงตั้งคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับแร่ธาตุที่ทั่วโลกต้องการอย่างมากเหล่านี้
 
 
 
ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก
 
 
อัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในโลก ฝ่ายวิจัยสภาคองเกรสคาดการณ์ว่า ในปี 2020 ชาวอัฟกันประมาณ 90% มีชีวิตความเป็นอยู่ต่ำกว่าระดับความยากจนที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยมีรายได้น้อยกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 62 บาทต่อวัน
ขณะที่ธนาคารโลก ระบุว่า เศรษฐกิจของอัฟกานิสถานเปราะบาง และยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้อื่นอย่างมาก การพัฒนาภาคเอกชนและการกระจายการลงทุน ถูกกดทับด้วยความไม่มั่นคง การเมืองที่ไร้เสถียรภาพ สถาบันต่าง ๆ อ่อนแอ โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ การทุจริตในวงกว้าง และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เต็มไปด้วยอุปสรรค
 
 
 
อัฟกาฯ แหล่งรวมแร่ล้ำค่า
 
 
เมื่อปี 2010 กองทัพสหรัฐฯ และนักธรณีวิทยา เปิดเผยว่า ที่ตั้งของอัฟกานิสถานที่พาดผ่านเอเชียกลางและเอเชียใต้ เป็นแหล่งแร่ธาตุที่มีมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 33.3 ล้านล้านบาท
แร่ต่าง ๆ เช่น เหล็ก ทองแดง และทองคำ กระจัดกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีสินแร่หายาก และอาจจะเป็นหนึ่งในแหล่งแร่ลิเธียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
แร่ลิเธียมเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นแต่หายากในแบตเตอรี่แบบชาร์จซ้ำ และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่สำคัญในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
 
 
 
ทรัพยากรแห่งศตรวรรษที่ 21
 
 
รอด สกูโนเวอร์ นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ระบุว่า อัฟกานิสถานไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรแร่ธาตุที่มีค่า แต่ยังมีแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ด้วย
ปัจจุบัน ความต้องการโลหะ เช่น ลิเธียมและโคบอลต์ รวมถึงธาตุหายาก เช่น นีโอไดเมียม กำลังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากประเทศต่าง ๆ พยายามเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีสะอาดอื่น ๆ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน
 
 
องค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA ระบุเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ต้องเพิ่มปริมาณแร่ลิเธียม ทองแดง นิกเกิล โคบอลต์ และแร่ธาตุที่จำเป็นอย่างรวดเร็ว มิฉะนั้นความพยายามจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศของโลกจะล้มเหลว
 
 
ขณะนี้ จีน คองโก และออสเตรเลีย คือแหล่งแร่ธาตุสำคัญ ครอบครองลิเธียม โคบอลต์ และสินแร่หายากถึง 75% ของโลก
 
 
 
อัฟกาฯ พลาดโอกาสรวยเพราะ ‘สงคราม’
 
 
ขณะที่ รัฐบาลสหรัฐฯ เคยประเมินว่า ปริมาณแร่ลิเธียมที่อยู่ในอัฟกานิสถาน อาจจะมีมากจนเป็นคู่แข่งของโบลิเวีย ซึ่งเป็นแหล่งแร่ลิเธียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
 
 
ซาอิด มีร์ซาด เชี่ยวชาญจากสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ เคยให้ข้อมูลกับนิตยสาร Science เมื่อปี 2010 ว่า หากสถานการณ์ในอัฟกานิสถานสงบนิ่งสักสองสามปี เพื่อเปิดทางให้สามารถพัฒนาทรัพยากรแร่ธาตุได้ ก็อาจจะกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในภูมิภาคภายในทศวรรษนี้
 
 
แต่ความสงบนั้นไม่เคยมาถึง ทำให้แร่ธาตุที่ล้ำค่าของอัฟกานิสถานส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในพื้นดิน แม้จะมีการขุดทอง ทองแดง และเหล็กอยู่บ้าง แต่สำหรับลิเธียมและสินแร่หายากอื่น ๆ ต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า และต้องอาศัยความชำนาญด้านเทคนิค รวมถึงเวลา
 
 
ปัจจุบัน การถลุงแร่ในอัฟกานิสถาน ทำเงินได้เพียงปีละ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ประมาณ 30-40% ยังถูกถลุงไปกับการคอร์รัปชั่น เช่นเดียวกับการที่เหมืองเล็ก ๆ ถูกครอบครองโดยผู้นำกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ หรือกลุ่มตาลีบัน
 
 
องค์การพลังงานระหว่างปรเทศ ประเมินว่า หลังจากค้นพบสายแร่ในอัฟกานิสถาน ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 16 ปีเพื่อจะเริ่มขั้นตอนการผลิต
 
 
สกูโนเวอร์ มองว่า ตาลีบันมีโอกาสใช้อำนาจใหม่ในการพัฒนากิจการเหมืองแร่ แต่อาจจะมีอุปสรรคอยู่บ้าง เพราะตาลีบันต้องทุ่มเทกำลังดูแลด้านความมั่นคงและมนุษยธรรม
 
 
 
ต่างชาติไม่กล้าเสี่ยง
 
 
ความท้าทายด้านความมั่นคง การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน และภัยแล้งที่รุนแรง ก็เป็นอุปสรรคต่อการสกัดแร่ธาตุที่มีค่าในอดีต และไม่น่าเปลี่ยนแปลงเร็ว ๆ นี้ภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน
 
 
โจเซฟ พาร์คส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงเอเชียมองว่า แม้กลุ่มตาลีบันจะเข้ายึดอำนาจแล้ว แต่การเปลี่ยนจากกลุ่มกบฏมาเป็นรัฐบาลระดับชาติ ยังห่างไกลจากความตรงไปตรงมา น่าจะอีกหลายปีกว่าจะมีการแต่งตั้งหน่วยงานรัฐมาดูแลด้านทรัพยากรแร่ธาตุ
 
 
ขณะที่ การหาต่างชาติเข้ามาลงทุนเป็นเรื่องยาก สำหรับเอกชนแล้วคงไม่เสี่ยงอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ในอัฟกานิสถานจะยังสับสนวุ่นวาย แต่ประเทศต่าง ๆ เช่น จีน ปากีสถาน และอินเดีย ก็ยังสนใจและอยากมีส่วนร่วมในขุมทรัพย์เหล่านี้
 
 
ท่าทีของรัฐบาลจีนที่ต้องการสื่อสารกับตาลีบันในอัฟกานิสถาน ถูกมองว่า เพราะต้องการเข้าไปมีบทบาทในอัฟกานิสถาน ทั้งในแง่ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน และถูกดึงดูดจากแร่ลิเธียม
 
 
 
ทรัพยากรที่ถูกสาป
 
 
สกูโนเวอร์ มองว่า ธุรกิจเหมืองเป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะไม่อย่างนั้น อาจเกิดหายนะทางนิเวศวิทยา และกระทบต่อประชาชน เมื่อบวกกับความไม่มีเสถียรภาพ จีนอาจมองหาการลงทุนในภูมิภาคอื่นแทน
 
 
ขณะที่ ข้อจำกัดจากสหรัฐฯ อาจเป็นความท้าทายเช่นกัน แม้รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้กำหนดให้ตาลีบัน เป็นองค์กรก่อการร้ายต่างชาติ แต่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ขึ้นบัญชีตาลีบันเป็นในกลุ่มก่อการร้ายระดับโลกพิเศษ
 
 
นักวิเคราะห์มองว่า อัฟกานิสถานอาจจะเหมือนหลายประเทศที่มีรัฐบาลอ่อนแอ ทำให้ประชาชนต้องทนทุกข์จากสิ่งที่เรียกว่า "ทรัพยากรที่ถูกสาป" นั่นคือ ความพยายามที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นและเศรษฐกิจในประเทศล้มเหลว แต่หากมีการบริหารจัดการที่ดี ทรัพยาการล้ำค่าใต้ดิน ก็อาจจะพลิกโฉมเศรษฐกิจของประเทศได้

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง