บริษัท Colossal เตรียมคืนชีพ "เสือแทสมาเนีย" ด้วยเทคโนโลยี CRISPR
TNN ช่อง16
18 สิงหาคม 2565 ( 11:20 )
211
การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์หรือเป็นไปตามธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตได้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของแมมมอธ ที่ถูกล่าโดยมนุษย์ยุคโบราณ, การล่าถอยของยุคน้ำแข็ง และการสูญเสียที่อยู่อาศัย เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยให้เกิดการสูญพันธุ์ทั้งสิ้น
โคลอสซอล ไบโอไซเอนซ์ (Colossal Biosciences) บริษัทสัญชาติอเมริกัน เคยมีโครงการฟื้นคืนชีพให้กับแมมมอธเมื่อปีก่อน ด้วยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม ล่าสุด ทีมนักวิทยาศาสตร์อีกทีมหนึ่งของบริษัทได้เปิดเผยโครงการฟื้นคืนชีพครั้งใหม่ โดยครั้งนี้เป็นการคืนชีพให้กับ “เสือแทสมาเนีย” (Tasmanian Tiger หรืออีกชื่อ คือ ไทลาซีน - Thylacine)
เสือแทสมาเนีย จัดอยู่ในสัตว์ประเภทมาซูเพียล (Marsupial) หรือสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง มีถิ่นอาศัยเดิมอยู่ในดินแดนออสเตรเลีย ต่อเมื่อมนุษย์มีประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้ถิ่นที่อยู่ของเสือแทสมาเนียลดลง แหล่งอาหารลดลง รวมถึงยังถูกมนุษย์ล่า จนเป็นเหตุให้สูญพันธุ์ โดยเสือแทสมาเนียตัวสุดท้ายได้จากโลกนี้ไปเมื่อปี ค.ศ. 1936
ห้องปฏิบัติการที่ศึกษาพันธุกรรมของเสือแทสมาเนีย แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (Thylacine Integrated Genetic Restoration Research - TIGRR) ได้ศึกษาข้อมูลทางพันธุศาสตร์หรือจีโนม (Genome) จากตัวอย่างยีนของเสือแทสเมเนียที่เก็บรักษาไว้ พร้อมเปรียบเทียบกับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใกล้เคียง เพื่อหาความเข้ากันได้ ก่อนที่ทางโคลอสซอลจะเริ่มโครงการฟื้นคืนชีพมันขึ้นมาอีกครั้ง
การศึกษาข้อมูลทางพันธุศาสตร์ จะมีประโยชน์ในการออกแบบวิธีการเพาะพันธุ์เสือแทสมาเนีย เพราะอาจจะต้องมีการตัดแต่งพันธุกรรมบางส่วนด้วยเทคโนโลยีคริสเปอร์ (CRISPR) ให้ตัวอ่อนมีสภาพที่พร้อมต่อการเจริญเติบโต อีกทั้งยังสามารถค้นหาสัตว์ที่จะกลายเป็น "แม่อุ้มบุญ" ให้แก่ตัวอ่อนของเสือแทสมาเนียด้วย เช่นเดียวดับการคืนชีพของแมมมอธที่จะมีการฝังตัวอ่อนไว้ในมดลูกของช้างแอฟริกา
นักวิจัยจาก TIGRR เชื่อว่า ภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี เราน่าจะได้เห็นการฟื้นคืนชีพของเสือแทสมาเนีย (ซึ่งเราจะต้องได้เห็นการคืนชีพของแมมมอธก่อนแน่นอน) และอีกไม่นานเทคโนโลยีด้านพันธุวิศวกรรมของโคลอสซอล จะกลายเป็นมาตรฐานในการป้องกันการสูญพันธุ์ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตที่หายไปจากโลกใบนี้ได้มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก New Atlas