รีเซต

สระบุรี ใช้โรงเก็บ ฮ. ทหาร เป็นโรงพยาบาลสนาม 3 อาคาร รวม 600 เตียง

สระบุรี ใช้โรงเก็บ ฮ. ทหาร เป็นโรงพยาบาลสนาม 3 อาคาร รวม 600 เตียง
มติชน
22 กรกฎาคม 2564 ( 21:14 )
114
สระบุรี ใช้โรงเก็บ ฮ. ทหาร เป็นโรงพยาบาลสนาม 3 อาคาร รวม 600 เตียง

ผู้ว่าราชการสระบุรี ร่วมแถลงข่าว ใช้โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ กรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ ค่ายอดิศร สระบุรี 3 อาคารเป็นโรงพยาบาลสนาม รวม 600 เตียง

 

 

วันที่ 22 กรกฏาคม นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการ จ.สระบุรี, พลตรีอุดม แก้วมหา ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์, พลตรี คณธัช มากท้วม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 18, พลตรีมนัส จันดี ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศรสระบุรี, พันเอก ศรัณย์ รอดบุญธรรม ผู้บัญชาการกรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์, นพ. กฤษณ์ สกุลแพทย์ สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี, นพ.อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรีและ นายธนกฤต อัตถะ สัมปุณณะ รองนายก อบจ.สระบุรี ร่วมแถลงข่าว ณ อาคารโรงจอดเฮลิคอปเตอร์ อาคาร 1 กรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ อ.เมือง จ.สระบุรี

 

 

นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการ จ.สระบุรี กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จ.สระบุรีมีผลกระทบการระบาดระรอกใหม่ ที่เริ่มตั้งแต่เดือน เมษายน 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,696 ราย รักษาหายแล้ว จำนวน 2,748 ราย และมีผู้เสียชีวิต จำนวน 30 ราย พบผู้ป่วยกระจายในทุกอำเภอ ทั้ง 13 อำเภอ อำเภอหนองแคมีผู้ติดเชื้อมากสุด ตามด้วยอำเภอเมืองและอำเภอแก่งคอย การระบาดยังดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และกระจายไปทุกพื้นที่ ทุกเชื้อชาติ ทุกอาชีพ ทุกกลุ่มอายุ

 

 

 

 

สาเหตุหลักที่การระบาดใน จ.สระบุรี ในช่วงเดือนนี้รุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา ก็เพราะเชื้อไวรัสที่ระบาดตอนนี้เป็นเชื้อ สายพันธุ์ เดลต้า หรือ สายพันธุ์อินเดีย ที่มีความสามารถในการแพร่กระจายและสร้างความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก การแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์นี้ ได้แทรกซึมเข้าไปยังทุกพื้นที่ ผ่านทางการรวมกลุ่ม การทำกิจกรรม การประกอบอาชีพ การพบปะสังสรรค์ และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จากการสอบสวนโรคที่ผ่านมา พบว่าจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อ ได้แก่ การร่วมรับประทานอาหาร การอยู่รวมกันในสถานที่ปิด เช่น โรงงาน ตลาด บ้าน สำนักงาน และการที่ไม่ได้ใส่หน้ากากป้องกันที่เหมาะสม

 

 

จ.สระบุรี ร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ทุกภาคส่วน ดูแลผู้ติดเชื้อ ทุกจุดบริการ ทั้งโรงพยาบาลของรัฐ และเอกชน โรงพยาบาลสนาม ใช้สถานที่เอกชนหลายแห่งในการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ยังมีศูนย์ดูแลผู้ป่วยในชุมชนที่กระจายระดับอำเภอและตำบล ทั้งการดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ที่บ้าน โดยความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน

 

 

ครั้งนี้ จ.สระบุรี ร่วมกับหน่วยทหาร ใน. จ.สระบุรี โดยใช้โรงเก็บเฮลิปคอปเตอร์ ของ กรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ ค่ายอดิศร สระบุรี สถานที่ของ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ อ.เมือง จ.สระบุรี เป็นโรงเก็บอากาศยาน เฮลิปคอปเตอร์ จำนวน 3 อาคาร จัดตั้งเป็น โรงพยาบาลสนาม อาคารหนึ่ง จัดตั้งเตียงได้ประมาณ 120-130 เตียง โรงพยาบาลสนาม ทั้ง 3 อาคารจะได้ ประมาณ 600 เตียง มีอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวครบ ทั้งเน็ต ไวไฟ โดยใช้งบกว่า 10 ล้านบาท องค์การบริหารส่วนสระบุรี สนับสนุน บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด SCG สนับสนุนเตียงกระดาษ ด้วยความร่วมมือของ มณฑลทหารบกที่ 18 ศูนย์การทหารม้า บริษัท TOT การไฟฟ้าสระบุรี การประปาส่วนภูมิภาค โรงพยาบาลสระบุรี สำนักงานสาธารณสุข จ.สระบุรี และอีกหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน เพื่อพร้อมใช้เป็นโรงพยาบาลสนามที่ได้มาตรฐานในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ จำนวน 600 เตียง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง