รีเซต

บสย. โชว์ค้ำประกันสินเชื่อทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 2.4 แสนล้านบาท

บสย. โชว์ค้ำประกันสินเชื่อทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 2.4 แสนล้านบาท
ข่าวสด
15 ธันวาคม 2564 ( 14:59 )
54

ข่าววันนี้ นางวสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์ รักษาการผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า คาดว่าผลการดำเนินงานของ บสย. ณ สิ้นสุดปี 2564 จะเติบโตในทุกมิติ โดยประเมินว่าจะปิดยอดค้ำประกันสินเชื่อได้มากกว่า 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานที่สร้างสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้ง บสย.

 

โดยผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 13 ธ.ค. 2564 มียอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 2.34 แสนล้านบาท เติบโต 66% จากปีก่อน ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2.07 แสนราย และอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) จำนวน 2.24 แสนฉบับ เติบโต 29% จากปีก่อน โดยมีโครงการที่โดดเด่น 3 โครงการได้แก่ 1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อตาม พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 1.24 แสนล้านบาท 2. โครงการ PGS-9 วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 7.87 หมื่นล้านบาท และ 3. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 4 วงเงิน 1.92 หมื่นล้านบาท

 

สำหรับวงเงินค้ำประกันสินเชื่อในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู และโครงการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. แบ่งเป็น 1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ ตาม พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู เฟส 1-2 สัดส่วน 53.2% ในส่วนนี้แบ่งเป็น พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู เฟส 1 จำนวน 9.54 หมื่นล้านบาท และเฟส 2 จำนวน 2.94 หมื่นล้านบาท และอนุมัติหนังสือ LG ได้ 3.93 หมื่นฉบับ

 

คิดเป็นลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือ 3.67 หมื่นราย ก่อให้เกิดสินเชื่อจากการค้ำประกัน 1.27 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงานรวม 1.2 ล้านราย ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจ 5.15 แสนล้านบาท โดยธุริจที่มีการค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดภายใต้โครงการ 3 ลำดับ ได้แก่ 1. ธุรกิจบริการ 28% 2.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 10% 3. ธุรกิจยานยนต์ 9%

 

2. โครงการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. คิดเป็นสัดส่วน 46.8% ประกอบด้วยโครงการ PGS-9 โครงการไมโคร 4 และโครงการอื่นๆ โดยยอดอนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อกว่า 1.1 แสนล้านบาท อนุมัติ LG 1.84 แรฉบับ จำนวนลูกค้า 1.76 แสนราย เกิดสินเชื่อจากการค้ำประกัน 1.22 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงานรวม 1.32 ล้านราย เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 4.54 แสนล้านบาท โดยธุรกิจที่มีการค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด ได้แก่ 1. ธุรกิจบริการ 29% 2.ธุรกิจการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 16% 3. เกษตรกรรม 10%

 

“บสย. ได้เพิ่มบทบาทการเป็นเพื่อนคู่คิดให้ธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาด้านเงินทุน สภาพคล่อง โดยใช้ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินเอสเอ็มอี หรือ บสย. F.A. Center ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีฟรี บริการลงทะเบียนขอรับคำปรึกษาทางการเงิน ปรึกษาด้านการปรับโครงสร้างหนี้ พัฒนาธุรกิจ และเข้าร่วมการอบรมหลักสูตรต่างๆ และ บสย. ยังได้ร่วมให้คำปรึกษาในโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขอใช้บริการ รวมกว่า 7.23 พันราย” นางวสุกานต์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง