"ไอเอ็มเอฟ" เตือนคริปโตฯ ทุบเสถียรภาพการเงินตลาดเกิดใหม่
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า การเปลี่ยนไปใช้คริปโทเคอร์เรนซีแทนสกุลเงินท้องถิ่น (Cryptoization) ในตลาดเกิดใหม่ อาจบั่นทอนการแลกเปลี่ยนและการควบคุมเงินทุน รวมถึงกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน
นักวิเคราะห์จาก “เชนนาลิซิส” (Chainalysis) ระบุว่า “บิตคอยน์” และคริปโทเคอร์เรนซีอื่นๆ ได้รับความนิยมและราคาปรับขึ้นมากในปีที่แล้ว โดยในตลาดเกิดใหม่และตลาดกำลังพัฒนา เช่น เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน มีการยอมรับคริปโทเคอร์เรนซีมากขึ้น
ขณะที่เมื่อเดือนกันยายน เอลซัลวาดอร์กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุมัติให้สามารถใช้บิตคอยน์ได้อย่างถูกกฎหมาย เพื่อสนับสนุนให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับการโอนเงินกลับประเทศของแรงงานเอลซัลวาดอร์ในต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ไม่ชัดเจน ประกอบกับระบบการชำระเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดการยอมรับคริปโทเคอร์เรนซีในเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ ควบคู่ไปกับผลตอบแทนที่สูง ทำให้นักลงทุนทั่วโลกสนใจ
แต่การใช้คริปโทฯ ในตลาดเกิดใหม่ยังเป็นเรื่องยากที่จะวัดให้ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งมีปัจจัยจากความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง และระบบธนาคารภายในที่อ่อนแอ ซึ่งอาจขับเคลื่อนการใช้คริปโทฯ เพิ่มขึ้น คล้ายกับที่เคยเกิดปรากฏการณ์ใช้เงินสกุลอื่นแทนเงินตราของประเทศตนเอง (Dollarization) ที่ส่วนใหญ่เป็นเงินดอลลาร์ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูง หรือสกุลเงินท้องถิ่นขาดเสถียรภาพ
ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า การเปลี่ยนไปใช้คริปโทเคอร์เรนซีแทนสกุลเงินท้องถิ่น ยังอาจเป็นภัยคุกคามต่อนโยบายการคลัง เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลอาจเอื้อให้เกิดการเลี่ยงภาษี
พร้อมกันนี้ ไอเอ็มเอฟ เตือนให้ประเทศกำลังพัฒนาปับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคให้แข็งแกร่งขึ้น และพิจารณาประโยชน์จากการออกสกุลเงินดิจิทัลโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency-CBDC) เพื่อรับมือกระแสคริปโทฯ ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น