รีเซต

จับตา 'กสทช.' ลุยเอาผิดเฟคนิวส์ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะที่ 6 องค์กรสื่อฯ จี้ รบ.ยกเลิก

จับตา 'กสทช.' ลุยเอาผิดเฟคนิวส์ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะที่ 6 องค์กรสื่อฯ จี้ รบ.ยกเลิก
มติชน
31 กรกฎาคม 2564 ( 08:16 )
38
จับตา 'กสทช.' ลุยเอาผิดเฟคนิวส์ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะที่ 6 องค์กรสื่อฯ จี้ รบ.ยกเลิก

 

วันที่ 31 กรกฎาคม หลังรัฐบาลออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการกับเฟคนิวส์ โดยเฉพาะการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ โดยให้ผู้บริหารอินเตอร์เน็ตระงับไอพี แอดเดรสนั้นทันที และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ดำเนินคดีต่อไป ต้องจับตาดูว่า กสทช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประเดิมเอาผิดกับใครได้บ้าง

 

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า จากข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 29) ที่ห้ามการเผยแพร่ข่าวสารที่บิดเบือน โดยมอบหมายให้ กสทช. ประสานผู้รับใบอนุญาตทุกรายให้ทำการตรวจสอบไอพี แอดเดรส ที่มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏบนอินเตอร์เน็ต โดยมีลักษณะที่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง

 

 

ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายนั้น กสทช.จึงเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตในประเทศ (ไอเอสพี) ทุกราย มาประชุมเพื่อทำความเข้าใจและกำหนดแนวทางในการดำเนินงานตามข้อกำหนดดังกล่าว

 

 

“ทั้งนี้จะตรวจสอบเนื้อหาที่มีการบิดเบือน สร้างความสับสนทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งในกรณีที่มีความผิดชัดเจน กสทช.จะดำเนินการตามข้อกำหนดดังกล่าวทันที สำหรับประชาชนอย่าได้กังวลว่า สำนักงาน กสทช. จะเข้าไปก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของทุกคน สำนักงาน กสทช. ไม่ได้ปิดกั้น หรือคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ไม่ได้ปิดกั้นการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย แต่จะดูแลในส่วนของข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับโควิดที่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงเท่านั้น เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศเท่านั้น” นายไตรรัตน์กล่าว

 

 

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับหนังสือจากผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ที่ยื่นถึงนายกฯ

 

 

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า องค์กรวิชาชีพสื่อมีความวิตกกังวล ที่ภาครัฐประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 27 และฉบับที่ 29 ซึ่งที่ผ่านมา องค์กรสื่อฯแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพประชาชนและสื่อมวลชน องค์การสื่อฯ มองว่าหน่วยบังคับใช้กฎหมายอาจตีความเจตนารมณ์นำไปสู่การปิดกั้นการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน หรือการแสดงความเห็นของประชาชน จึงยื่นหนังสือกราบเรียนนายกฯถึงข้อห่วงใยนี้ หากไม่ยกเลิกถือเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน

 

 

ด้านนายอนุชากล่าวว่า จะสื่อสารไปยังนายกฯถึงความห่วงใยดังกล่าว แต่ยืนยันว่าข้อกำหนดที่ออกมาเป็นเพียงการปิดช่องว่างของกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบัน ที่มีข้อจำกัดในการบังคับใช้ เช่น จำเป็นต้องมีผู้ฟ้องร้องดำเนินคดี รัฐบาลมีเจตนารมณ์เพียงยกระดับการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสกัดกั้นการเผยแพร่ข่าวปลอม รวมทั้งการกระทำที่เป็นการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารด้วยความตั้งใจ ไม่ได้เจาะจงหรือตั้งใจบังคับใช้กับสื่อมวลชนวิชาชีพ แต่เป็นที่รับทราบโดยทั่วไปว่ามีการสื่อสารสาธารณะผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดระแวงหรือความหวาดกลัว โดยเฉพาะวิกฤตโควิด ในขณะนี้

 

 

“ยืนยันว่านายกฯ และรัฐบาลไม่มีเจตนาปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชนวิชาชีพ พร้อมเชิญชวนสื่อมวลชนและองค์การสื่อวิชาชีพ ร่วมกับภาครัฐในการแสวงหาพื้นที่กลางเพื่อร่วมกันออกแบบกรอบการทำงานและเป็นช่องทางประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานประชาสัมพันธ์ภาครัฐและสื่อมวลชน วันนี้มีความจำเป็นต้องสกัดกั้นข่าวปลอม เพราะข้อมูลที่ถูกต้องคือประโยชน์ของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง” นายอนุชากล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง