รีเซต

เช็กด่วน! ติดเชื้อโควิดซ้ำหลายครั้ง ใครเสี่ยงเกิดอาการ "ลองโควิด" มากขึ้น

เช็กด่วน! ติดเชื้อโควิดซ้ำหลายครั้ง ใครเสี่ยงเกิดอาการ "ลองโควิด" มากขึ้น
TNN ช่อง16
6 มิถุนายน 2566 ( 10:31 )
84
เช็กด่วน! ติดเชื้อโควิดซ้ำหลายครั้ง ใครเสี่ยงเกิดอาการ "ลองโควิด" มากขึ้น

หมอธีระ เปิดข้อมูลผลการวิจัยการติดเชื้อโควิดซ้ำหลายครั้ง ใครเสี่ยงเกิดอาการ "ลองโควิด" มากขึ้น หากฉีดวัคซีนตั้งแต่ 4 เข็มขึ้นไปจะลดความเสี่ยงได้กว่า 80%


รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า อัพเดตความรู้โควิด-19

1. หากโรงพยาบาลไม่ตรวจคัดกรองโควิด-19 ในผู้ป่วยที่ต้องมานอนรักษาตัว จะทำให้มีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ภายในโรงพยาบาลมากขึ้น 

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ JAMA Internal Medicine เมื่อ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเป็นข้อมูลที่ศึกษาในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ และสก็อตแลนด์)

การศึกษานี้ตอกย้ำให้โรงพยาบาลควรให้ความสำคัญต่อการตรวจคัดกรองในผู้ป่วยทุกรายที่เข้ารับการรักษาตัว เพื่อลดความเสี่ยงต่อผู้ป่วยเอง ผู้ป่วยรอบข้าง และบุคลากรในโรงพยาบาล เพราะหากมีการติดเชื้อระหว่างนอนรักษาตัว จะส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตมากขึ้นเนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว หรือสถานะสุขภาพไม่ดีอยู่เดิม การติดเชื้อจะทำให้โรคต่างๆ รุนแรงขึ้น เกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้นได้

2. วัคซีนที่จำเพาะต่อสายพันธุ์ที่ระบาด จะเริ่มใช้ในช่วงฤดูใบไหม้ร่วงปีนี้

ข้อมูลจาก CTV News วันที่ 5 มิถุนายน 2566 รายงานว่า บริษัท Biontech ประเทศเยอรมัน ได้ให้ข่าวว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่จำเพาะต่อสายพันธุ์ XBB จะได้รับการผลิต และยื่นขอการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งน่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการขออนุมัติภายในช่วงปลายฤดูร้อน และเริ่มใช้ได้สำหรับประเทศในกลุ่มแถบเหนือของโลกในช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วง

3. การติดเชื้อหลายครั้ง เพศหญิง และสูงอายุ เสี่ยงต่อ Long COVID มากขึ้น

งานวิจัยโดยทีมจากประเทศบราซิล ศึกษาในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 7,051 คน ตั้งแต่ปี 2020-2022 เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Infection Control & Hospital Epidemiology เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2566

พบอัตราความชุกของปัญหา Long COVID สูงราว 27%

การติดเชื้อซ้ำ (Reinfections) จะทำให้เสี่ยงต่อ Long COVID มากขึ้น 27%

เพศหญิงทำให้เสี่ยงมากขึ้นกว่าเพศชาย 21%

และภาวะสูงอายุจะทำให้เสี่ยงมากขึ้นเล็กน้อย 

หากฉีดวัคซีนครบเข็มกระตุ้น (ตั้งแต่ 4 เข็มขึ้นไป) จะลดความเสี่ยงได้กว่า 80%

...สถานการณ์ไทยเรา มีการติดเชื้อกันมากในแต่ละวัน สถิติป่วย และเสียชีวิตมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี

ระวังการคลุกคลีใกล้ชิดโดยไม่ป้องกันตัว

ไม่ควรแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน

หากไม่สบาย ควรรีบตรวจรักษา แยกตัวจากคนอื่น 7-10 วันจนกว่าจะไม่มีอาการและตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลลบ

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง

1. Discontinuation of Universal Admission Testing for SARS-CoV-2 and Hospital-Onset COVID-19 Infections in England and Scotland. JAMA Internal Medicine. 5 June 2023.

2. BioNTech proceeding with COVID-19 shot in line with WHO guidance. CTV News. 5 June 2023.

3. Risk factors for long coronavirus disease 2019 (long COVID) among healthcare personnel, Brazil, 2020–2022. Infection Control & Hospital Epidemiology. 5 June 2023.



ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก TNN ONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง