รีเซต

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ถ่ายภาพวงแหวนดาวเนปจูนชัดเจนที่สุดในรอบ 30 ปี

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ถ่ายภาพวงแหวนดาวเนปจูนชัดเจนที่สุดในรอบ 30 ปี
TNN ช่อง16
22 กันยายน 2565 ( 17:47 )
52
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ถ่ายภาพวงแหวนดาวเนปจูนชัดเจนที่สุดในรอบ 30 ปี

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ของนาซาเปิดเผยภาพถ่ายสำคัญของดาวเนปจูน มองเห็นวงแหวนรอบดาวเนปจูนที่มีความคมชัดสูงสุดในรอบ 30 ปี ซึ่งรายละเอียดบางอย่างไม่ได้ถูกบันทึกในภารกิจยานวอยเอจเจอร์ 2 (Voyager 2) นับจากปี 1989 นอกจากวงแหวนของดาวเนปจูนที่มีความชัดเจนยังสามารถถ่ายภาพแถบฝุ่นบนดาวเนปจูนที่มีความชัดเจนมากขึ้น นับเป็นอีกครั้งที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ได้ใช้ประสิทธิภาพของตัวกล้องบันทึกภาพถ่ายอวกาศที่สำคัญ


ดาวเนปจูนถูกค้นพบครั้งแรกใน 1846 มีระยะห่างจากโลกประมาณ 30 เท่า ของระยะทางระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก ดาวเนปจูนโคจรรอบบริเวณที่มืดห่างไกลของระบบสุริยะชั้นนอกและด้วยระยะห่างดังกล่าวทำให้ดาวเนปจูนได้รับอิทธิพลจากแสงสว่างของดวงอาทิตย์น้อย พื้นผิวดาวมีลักษณะเป็นน้ำแข็ง ไฮโดรเจน ฮีเลียม และมีเทน บรรยากาศของดาวเนปจูนคาดว่ามีกระแสลมที่รุนแรงมากถึง 2,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อุณหภูมิพื้นผิว -220 องศาเซลเซียส


ภาพถ่ายของดาวเนปจูนล่าสุดนี้ถูกถ่ายด้วยกล้อง Near-Infrared Camera (NIRCam) ที่ติดตั้งบนกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ถ่ายภาพวัตถุในช่วงอินฟราเรดใกล้ตั้งแต่ 0.6 ถึง 5 ไมครอน นอกจากนี้กล้องยังได้ถ่ายภาพของดาวบริวาร 7 จาก 14 ดวง ของดาวเนปจูนได้สำเร็จ ได้แก่ ดวงจันทร์กาลาเทีย (Galatea) ดวงจันทร์นาอิด (Naiad) ดวงจันทร์ทาลาสซ่า (Thalassa) ดวงจันทร์เดสปิน่า (Despina) ดวงจันทร์ลาริสสา (Larissa) ดวงจันทร์โพรทูส (Proteus) และดวงจันทร์ไทรทัน (Tritan) ที่สะท้อนแสงสว่างจ้าอยู่ด้านมุมบนของภาพ ดวงจันทร์ไทรทัน (Tritan) มีวงโคจรที่ผิดปกติทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าดวงจันทร์ไทรทัน (Tritan) เคยเป็นวัตถุในแถบไคเปอร์ก่อนที่จะโดนดาวเนปจูนจับเอาไว้ด้วยแรงโน้มถ่วง


กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ติดตั้งเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศที่มีความทันสมัยที่สุดของมนุษย์ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2021 ปัจจุบันเดินทางไปประจำตำแหน่งที่เรียกว่า จุดลากร็องฌ์ที่ 2 เพื่อสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์และไขความลับจักรวาล กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศที่นำโดยนาซา (NASA) ร่วมกับพันธมิตรองค์การอวกาศยุโรป ESA (European Space Agency) และองค์การอวกาศแคนาดา (Canadian Space Agency)



ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ nasa.gov

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง