รีเซต

AI หนึ่งในเทคฯ เปลี่ยนโลกวงการบันเทิง-งานศิลปะ | TNN Tech Reports

AI หนึ่งในเทคฯ เปลี่ยนโลกวงการบันเทิง-งานศิลปะ | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
15 พฤศจิกายน 2566 ( 16:31 )
64
1



AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ถือเป็นหนึ่งเทคโนโลยีมาแรงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เพราะด้วยความฉลาดจากการเรียนรู้ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ถูกป้อนเข้าไป ทำให้ AI กลายเป็นเครื่องมือที่สามารถเปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ภายในระยะเวลาอันสั้น 


ปัจจุบัน AI ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลายวงการ หนึ่งในนั้นคือวงการศิลปะ ที่สามารถทำได้หลายอย่าง เช่น การสร้างภาพจากคำเพียงไม่กี่คำ การสร้างรูปปั้นที่มีรายละเอียดไม่ต่างจากฝีมือของศิลปิน ไปจนถึงนักร้อง นักแสดงที่เกิดจาก AI เช่นตัวอย่างที่เรานำมาฝากกัน


“MAVE” เกิร์ลกรุ๊ปจาก AI ทั้งวง


MAVE วงเกิร์ลกรุ๊ปที่เกิดจาก AI เป็นผลงานการพัฒนาของบริษัท เมต้าเวิร์ส เอนเตอร์เทนเมนท์ (Metaverse Entertainment) บริษัทด้านสื่อความบันเทิงจากประเทศเกาหลีใต้ ร่วมกับบริษัท กาเกา (Kakao) 


ภายในวงประกอบไปด้วย 4 สาว ชีอู (SIU), เจน่า (Zena), ไทร่า (Tyra) และมาร์ตี้ (Marty) โดยได้ปล่อยเพลงแรกที่มีชื่อว่า แพนโดร่า บ๊อกซ์ (Pandora Box) ไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปัจจุบันมียอดรับชมมากกว่า 23 ล้านวิว และเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ปล่อยคลิปพิเศษที่มีชื่อว่า Wonderland ด้วย 


สำหรับเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสมาชิก AI เหล่านี้ ก็คือการใช้ Voice Generator หรือเครื่องสร้างเสียงให้กับตัว AI ตามบทที่ได้รับ ซึ่งนอกจากเสียงภาษาเกาหลี ก็มีทั้งเสียงภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และอินโดนีเชีย เพื่อให้วงเกิรล์กรุปนี้เดินหน้าโกอินเตอร์กวาดฐานแฟน ๆ ในประเทศอื่นได้ 


นอกจากนี้ยังการใช้โมชันแคปเจอร์ (Motion Capture) หรือเทคโนโลยีจับการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์จริง ๆ สำหรับนำมาสร้างเป็นภาพ 3 มิติให้ท่าทางการเต้น การเคลื่อนไหวของเสื้อผ้า เส้นผม ดูพลิ้วไหวเป็นธรรมชาติ ในขณะที่การแสดงออกทางสีหน้า ได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ซึ่งทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์สร้างภาพ 3 มิติของใบหน้าให้สมจริงยิ่งขึ้น


ปัญญาประดิษฐ์สร้างรูปปั้น ศิลปะล้ำยุค


ไปต่อกันที่ ความสามารถของ AI ที่โลกต้องตะลึง กับรูปปั้นดิ อิมพอสสิเบิล สแตจูว (The Impossible Statue) หรือแปลเป็นไทยคือ ‘รูปปั้นที่เป็นไปไม่ได้’ เป็นผลงานแกะสลักรูปปั้น ที่รวมเอาลักษณะร่างกายบางส่วน จาก 5 ผลงานรูปปั้นดังของศิลปินในตำนาน มาเป็นแรงบันดาลใจของงานชิ้นนี้ 


ผลงานนี้เป็นของ แซนด์วิค (Sandvik) บริษัทด้านวิศวกรรมระดับโลกจากสวีเดน แกะสลักจากวัสดุแบบสเตนเลสสตีลกว่า 500 กิโลกรัม สร้างเป็นรูปปั้นที่มีความสูง 1.5 เมตร ด้วยการใช้เทคนิคการตัดเฉือนโดยเครื่องจักรกลอัตโนมัติที่ทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือ ซีเอ็นซี แมชชีน (CNC Machine) ที่มีความแม่นยำ 


สำหรับกระบวนการสร้างนั้น เริ่มจากการร่างแบบบนคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงการใช้ เวอริคัต (Vericut) หรือโปรแกรมที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อจำลองการสกัด ขัด และเจาะ ก่อนเดินเครื่องจริงด้วยเครื่องมือหลากหลายขนาด ทั้งหมดนี้มี AI อยู่ในทุกขั้นตอน


อีกทั้งยังให้โจทย์หินอย่างการรวมลักษณะร่างกายจากผลงานรูปปั้นของ 5 ศิลปินดังต่างยุคสมัย เช่น Michelangelo (มีเกลันเจโล) ศิลปินอิตาลียุคศตวรรษที่ 15 และ Auguste Rodin (โอกุสต์ โรดัง) ศิลปินชื่อดังของฝรั่งเศสในยุคศตวรรษที่ 19 ให้ออกมาเป็นงานศิลปะชิ้นใหม่ที่เห็นกันอยู่ในตอนนี้


AI ถอดรหัส สร้างคลิปจากสมองหนู


และที่น่าทึ่งไม่แพ้กัน คือ ปัจจุบันมีการใช้ AI ถอดรหัสและสร้างสิ่งที่หนูเห็นขึ้นใหม่ โดยการวิเคราะห์สัญญาณสมอง กลายเป็นคลิปวิดีโอที่มีรายละเอียดเนื้อเรื่องเหมือนกับที่หนูกำลังมองเห็นจริง ๆ


โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสโลซาน หรือ อีพีเอฟแอล (EPFL) ได้ติดตั้งอุปกรณ์หัววัดอิเล็กโทรด สอดเข้าไปบริเวณสมองส่วนการมองเห็น ร่วมกับการใช้ตัวโพรบแสง ซึ่งจะเรืองแสงเป็นสีเขียว เมื่อสมองของหนูทดลองมีการรับและส่งข้อมูล 


จากนั้น เปิดภาพยนตร์สั้นให้หนูทดลองชม และนำเอาข้อมูลที่ได้ไปฝึกฝนให้กับระบบอัลกอริทึมการเรียนรู้ชื่อว่า ซีบรา (CEBRA) เพื่อฝึกให้มันจับคู่กิจกรรมของระบบประสาทของหนู เข้ากับเฟรมภาพแต่ละจังหวะ 


โดยภาพยนตร์สั้นที่ทีมวิจัยให้หนูทดลองชมนั้น เป็นภาพยนตร์ขาวดำในปี 1960 ซึ่งระหว่างการทดลองทีมนักวิจัยจะให้หนูดูภาพยนตร์ที่มีรายละเอียดต่างจากเดิมไปเล็กน้อย เพื่อให้ระบบอัลกอริทึมเรียนรู้รูปแบบการทำงานของสมองแบบใหม่


เมื่อสอนกระบวนการต่าง ๆ ให้กับระบบอัลกอริทึมเรียบร้อย มันก็จะสามารถคาดเดาได้ว่าเฟรมใดของภาพยนตร์ที่หนูกำลังดูอยู่แบบเรียลไทม์ และเปลี่ยนข้อมูลนี้ให้กลายเป็นภาพยนตร์ 


ซึ่งจากหน้าจอจะแสดงเทียบกันให้เห็นว่าสิ่งที่หนูดูอยู่ และสิ่งที่ระบบปัญญาประดิษฐ์จำลองภาพจากมุมมองของหนูขึ้นมา มีความคล้ายคลึงกันมาก โดยมีความแม่นยำถึงร้อยละ 95 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง