รีเซต

เซ่นโควิดต่อเนื่อง ดัชนีเชื่อมั่นฯ ม.ค. วูบต่ำสุดในรอบ 25 เดือน

เซ่นโควิดต่อเนื่อง ดัชนีเชื่อมั่นฯ ม.ค. วูบต่ำสุดในรอบ 25 เดือน
มติชน
10 กุมภาพันธ์ 2564 ( 13:12 )
42

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนธันวาคม 2563 ว่า จากการสำรวจประธานหอการค้า และสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25-29 มกราคม 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ลดลง มาอยู่ที่ 29.8 ปรับตัวต่ำสุดในรอบ 25 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 และลดลงจากเดือนธันวา​คม​ 2563 อยู่ที่ 31.8 เนื่องจากตัวชี้วัดทุกด้าน อาทิ ภาคบริการ ภาคการเกษตร และและการจ้งงาน มีการปรับตัวลดลงทุกภูมิภาค ส่วนดัชนีฯ ในปัจจุบัน ลดลงมาอยู่ที่ 21.7 จากเดือนธันวา​คม​ อยู่ที่ 23.7 และดัชนีฯ ในอนาคต ลดลงมาอยู่ที่ 37.9 จากเดือนธันวา​คม​ 2563 อยู่ที่ 39.7 ส่วนความเชื่อมั่นอีก 6 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะโตไม่ถึง 50 หรืออยู่ในระดับที่มีความเชื่อมั่นต่ำ เนื่องจากภาคธุรกิจยังไม่มีความเชื่อมั่นจากสถานการณ์ในปัจจุบัน

 

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยลบที่สำคัญ อาทิ การล็อกดาวน์ในพื้นที่เสี่ยงสูงทำให้ธุรกิจมีการหยุดชะงัก นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อภาคธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องจากการล็อก​ดาวน์, ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มีการระบาดเป็นวงกว้างและรวดเร็ว และมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)​ ปรับลดจากการประมาณเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดยคาดว่าจะขยายตัว 2.8% เนื่องจากเศรษฐกิจมีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ เป็นต้น

 

ขณะที่ ปัจจัยบวกสำคัญ อาทิ มาตรการของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี-ต้นปีหน้า ในโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน เราชนะ และเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้น และการส่งออกของไทยเดือนธันวา​คม​ 2563 เพิ่มขึ้น 4.71% มูลค่าอยู่ที่ประมาณ 20,082 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.62% มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 19,119 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลประมาณ 963 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

 

สำหรับ ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ การเร่งควบคุมสถานการณ์โควิด-19 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศไทย, เร่งออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชน, บรรเทาความเดือดร้อนของธุรกิจ พร้อมกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อเนื่องโดยเน้นและให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวแบบปลอดเชื้อ, มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องของค่าจ้างแรงงานที่ต้องหยุดกิจการ และออกมาตรการ และหาแนวทางเพื่อจูงใจการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง