หมดยุค Work-Life Balance? แต่ Work Hard เกินไปก็เสี่ยง “ทำงานหนักจนตาย”
ถ้าพูดถึงการทำงานอย่างหนักเพื่อเอาตัวรอดในสังคมการทำงานที่แข่งขันสูง คงต้องพูดถึงญี่ปุ่น ซึ่งมีคำที่ใช้กันแพร่หลายว่า “คาโรชิ” หรือ ทำงานหนักจนตาย เพราะทุกปีจะมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการทำงานหนักหลายร้อยคนในญี่ปุ่น
ที่สำคัญ องค์การอนามัยโลกได้ใช้คำว่า “Karoshi Syndrome” เพื่อเก็บสถิติว่า แต่ละปีมีคนตายจากการทำงานหนักทั่วโลกเท่าไหร่
การศึกษาของ WHO ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ชี้ว่า การทำงานหนักเกินไป อยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกมากถึง 745,000 คน
“ไม่มีงานใดคุ้มค่ากับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหัวใจ” ดร. ทีโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าว
📌 ทำงานหนักไม่ได้สำเร็จเสมอไป
ค่านิยมการทำงานหนักเพื่อความสำเร็จ ถูก “Romanticized” หรือทำให้เป็นเรื่องสวยหรู มายาวนานแล้ว นับแต่เกิดโลกธุรกิจ
ผู้บริหารหัวเก่าก็ชอบพร่ำบอกพนักงานให้ทำงานหนัก เพราะการเอาแต่นอน ขี้เกียจ สะท้อนว่าคุณเป็นพนักงานที่อ่อนแอ และถูกแทนที่ได้เสมอ ไม่เพียงเท่านั้น ยังพร่ำสอนว่า ถ้าทำงานหนักนานพอ หนักพอ สักวันคุณก็จะประสบความสำเร็จ
แต่บทความโดยของ Harvard Business Review คัดค้านวัฒนธรรมการทำงานเช่นนี้ โดยชี้ว่า มนุษย์เราจะประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่ทำงานหนักแค่ไหน แต่ทำงานผิดที่ และทำงานที่ไม่มีใจ ความสำเร็จก็จะยิ่งห่างไกลออกไปอีก
ทำงานหนักแล้วประสบความสำเร็จ จะต้องเป็นการเอาแรงและเวลาไปทุ่มให้กับโครงการหรือเนื้องานที่สอดรับกับเป้าหมายการเติบโตทางอาชีพ ไม่ใช่ทำงานหนัก แต่ทำทุกอย่างจิปาถะ
📌 ทำงานมากไป ตายจริง
งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ ชี้ว่า คนที่ทำงานหนักเกิน 54 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงที่จะตายจากการทำงานมากเกินไป
ผลศึกษานี้ ซึ่ง WHO ทำร่วมกับ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ชี้ว่า ประชากรโลกเสียชีวิตจากการทำงานหนัก มากกว่ามาลาเรียระบาดเสียอีกในแต่ละปี และการทำงานหนักจนตาย เป็นวิกฤตสาธารณสุขโลกไปแล้ว
เมื่อชำแหละผลวิจัยไป ปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่การเสียชีวิตจากการทำงาน คือ การทำงานยาวนานเกินไปในแต่ละสัปดาห์ เพราะความเครียดมันจะสะสมจนเรื้อรัง นำมาสู่ฮอร์โมนความเครียดในร่างกายที่เพิ่มสูง ซึ่งยิ่งฮอร์โมนนี้เพิ่มสูง ก็จะทำให้ความดันเลือดและคอร์เรสเตอรอลพุ่งขึ้นด้วย
อีกประการสำคัญ ทำงานนาน ๆ ก็มีเวลานอนน้อยลง ไม่ได้ออกกำลังกาย หันไปทานอาหารไม่มีโภชนาการที่ดี รวมถึงแก้เครียดด้วยการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่ดีต่อสุขภาพ
ข้อมูลยังชี้ว่า แรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย ทำงานยาวนานมากที่สุดในโลก โดยประเทศไทย ติดอันดับ 5 ของโลก ที่พนักงานประจำทำงานหนักเกิน 48% ต่อสัปดาห์
แต่จากบรรยากาศทางเศรษฐกิจ และเสียงผู้คนในสังคมออนไลน์ กลับชี้ไปว่า ทำงานหนักแค่ไหนก็ไม่ประสบความสำเร็จ และไม่มีความสุข ซึ่งเรื่องนี้ อาจเป็นเรื่องของ “ระบบ” มากกว่า “วัฒนธรรมการทำงาน” ก็เป็นได้
อภินันท์ ธรรมเสนา”ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เคยให้สัมภาษณ์ผู้จัดการว่า
คนไทยให้ความสำคัญกับคนมากกว่าระบบ หากพึ่งพาระบบมากกว่าคน จะหมายความว่า ถ้าหากพนักงานคนไหนไม่อยู่ คนอื่นสามารถมารับผิดงานต่อได้ แต่ประเทศไทยไม่เป็นเช่นนั้น
ยังไม่นับเรื่องค่าแรงที่ค่อนข้างต่ำสำหรับมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ ระบบขนส่งสาธารณะที่ทำให้ชีวิต 1 ใน 3 ของวันอยู่กับการเดินทางไป-กลับ ที่ทำงาน ยิ่งทำให้ชีวิตการทำงานของคนไทยที่ถูกกดดันให้ต้องทำงานหนักอยู่แล้ว ต้องมาเจอความเครียดจากปัจจัยนอกออฟฟิศอีก
อ้างอิง:
https://hbr.org/2023/09/hard-work-doesnt-always-lead-to-success
https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(23)02694-6/abstract
https://www.bbc.com/worklife/article/20210518-how-overwork-is-literally-killing-us
https://www.bbc.com/worklife/article/20160912-is-there-such-thing-as-death-from-overwork