ไทยพบ “เดลตาครอน” 73 ราย แต่ยากที่จะระบาดเป็นสายพันธุ์หลัก
วันนี้ (23 มี.ค. 65) นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 กรณีสายพันธุ์เดลตาครอน ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างโอมิครอนกับเดลตา (BA.1 กับ AY.4) ว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เริ่มพบการระบาดแล้วในฝรั่งเศส เดนมาร์ก เยอรมัน เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์ โดยข้อมูลจากฐานข้อมูล GISAID พบเดลตาครอนแพร่ระบาดในช่วงต้นปี 65 ซึ่งเป็นช่วงที่เดลตายังไม่ลดลงมาก และโอมิครอนกำลังเริ่มต้น มีการรายงานข้อมูลเข้าไปที่ GISAID ประมาณ 4 พันคน แต่ที่ GISAID ยอมรับและสรุปว่าเป็นเดลตาครอนจริงๆ จะมีเพียง 64 คนเท่านั้น (ข้อมูลวันที่ 22 มี.ค. 65) ซึ่งส่วนใหญ่พบในฝรั่งเศสประมาณ 50 กว่าคน
"ใน 4 พันคนนั้น ต้องรอการวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าใช่เดลตาครอนจริงหรือไม่ ที่เป็นลูกผสมระหว่าง BA.1 กับ AY.4 ซึ่งในจำนวน 4 พันกว่ารายนี้ รวมจำนวนที่ประเทศไทย summit ข้อมูลเข้าไปอีก 73 รายด้วย แต่ไม่ต้องตกใจ ถ้าใช่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะถ้าเดลตาลดลงเรื่อยๆ โอกาสที่จะมา recombinant กับแบบนี้ก็จะยากขึ้น เพราะไม่มีเดลตาเหลือให้ไปผสมแล้ว" นพ.ศุภกิจกล่าว
อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามว่าเดลตาครอนที่เจอใน 4 พันกว่ารายนี้ จะมีฤทธิ์เดชมากหรือไม่ ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดรวดเร็ว ในอนาคตก็จะเห็นเดลตาครอน เป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดแทนโอมิครอนในปัจจุบัน แต่ในขณะนี้ยังไม่เห็นโอกาสนั้น
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ปัจจุบัน WHO ยังจัดชั้นของสายพันธุ์เดลตาครอน เป็นเพียงสายพันธุ์ที่ต้องติดตาม (Variant under monitoring) เท่านั้น ยังไม่ได้จัดชั้นให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจ หรือเป็นสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวลแต่อย่างใด โดยยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ตลอดจนความรุนแรง และการหลบภูมิ
"เปรียบเทียบแล้ว เดลตาครอนก็ยังเป็นเหมือนเด็กประถม ไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้น ตกใจ หรือน่าสนใจมาก เพียงแต่ต้องติดตามดู" นพ.ศุภกิจ กล่าว
สำหรับประเทศไทยปัจจุบันสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือว่าเป็นการระบาดจากสายพันธุ์โอมิครอนเป็นหลัก ซึ่งครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว เนื่องจากข้อมูลในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (12-18 มี.ค.) มีการตรวจหาสายพันธุ์ไป 1,982 คน พบสายพันธุ์เดลตาเพียง 1 คน ที่เหลือเป็นสายพันธุ์โอมิครอน
โดยกลุ่มตัวอย่างเกือบ 2 พันคนที่สุ่มตรวจสายพันธุ์นี้ มาจากทั้งผู้ติดเชื้อรายใหม่, ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ, บุคลากรแพทย์, คลัสเตอร์ใหม่ และกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ เป็นต้น
"อาจเรียกได้ว่าโอมิครอน มีส่วนแบ่งเกือบ 100% ก็ว่าได้ ล่าสุดคือ 99.9% ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ก็เป็นโอมิครอนทั้งหมด ไม่เหลือเดลตาแล้ว" นพ.ศุภกิจ ระบุ
ทั้งนี้ นอกจากการตรวจพบว่าการระบาดในปัจจุบันมาจากไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน 100% แล้ว โอมิครอนยังมีการแบ่งสายพันธุ์ย่อยอีก ดังนั้น จึงต้องมีการตรวจเพื่อแยกหาสายพันธุ์ย่อยว่าเป็น BA.1 หรือ BA.2 ซึ่งพบว่าขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 และมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในประเทศ จากระดับ 18.5% ในช่วงต้นเดือนก.พ. เพิ่มขึ้นมาเป็นระดับ 83% ในปัจจุบัน
"BA.2 แพร่เร็วกว่า BA.1 ประมาณ 1.4 เท่า ดังนั้นในช่วงถัดไปจะเห็นการครองตลาดของ BA.2 เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนความรุนแรงของสายพันธุ์ย่อย BA.2 นี้ยังไม่มีข้อมูล หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่มีความแตกต่างจาก BA.1 เพียงแต่แพร่เร็วกว่าเท่านั้น...ไม่ว่าจะตรวจจากคนกลุ่มไหน วันนี้ BA.2 ก็ยังเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาด และ BA.2 ก็ไม่ได้มีฤทธิ์เดชที่จะทำให้เสียชีวิตมากขึ้น" อธิบดีกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ ระบุ
ส่วนการถอดรหัสพันธุกรรมสายพันธุ์ย่อยลงไปอีก คือ BA.2.2 และ BA.2.3 นั้น พบว่าในส่วนของ BA.2.2 เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 14 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย ส่วน BA.2.3 เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 27 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 34 ราย อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินความสามารถในการแพร่กระจายความรุนแรงของโรค หรือการหลีกหนีวัคซีนของสายพันธุ์ย่อยดังกล่าว
"การกลายพันธุ์นี้ ไม่ได้มีผลอะไรมากมาย ซึ่งในที่สุดแล้วก็อาจจะหายไป ไม่ได้มีประเด็นอะไรมาก" นพ.ศุภกิจระบุ
อย่างไรก็ดี มาตรการ Universal Prevention ยังมีความจำเป็น รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ที่ควรรีบมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นก่อนช่วงสงกรานต์นี้
ภาพจาก : AFP