สถาบันมะเร็ง ยันไม่มีรายงานแพ้ "วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก" จนเสียชีวิต
วันนี้ (2 ก.ย.63) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ผลักดันให้การฉีดวัคซีน HPV เป็นนโยบายประเทศ โดยกลุ่มเป้าหมายของการฉีดวัคซีน HPV คือ เด็กผู้หญิงที่กำลังเรียนอยู่ประถมศึกษาปีที่ 5 คือ ช่วงอายุระหว่าง 9-11 ปี ถือเป็นวัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก จึงเหมาะสมในการได้รับวัคซีน
โดยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา โดยวัคซีนนำเข้าจากต่างประเทศ ปัจจุบันมีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 400,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งโดยทั่วไปการฉีดวัคซีน สามารถป้องกันโรคได้มากกว่า ร้อยละ 70
ทั้งนี้ สำหรับข้อควรระวังในการฉีดวัคซีน ได้แก่ ผู้ที่มีไข้สูงไม่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน สตรีที่กำลังตั้งครรภ์ คนที่มีประวัติแพ้วัคซีนมาก่อน และระวังในคนไข้เกล็ดเลือดต่ำ หรือมีภาวะแข็งตัวของเลือดผิดปกติ โดยการฉีดวัคซีนจะมีการคัดกรองอุณหภูมิร่างกายทุกครั้ง
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า ที่ผ่านมา รายงานทางการแพทย์จากทั่วโลก ยังไม่พบผู้เสียชีวิต หลังจากการฉีดวัคซีน HPV หรือพบว่ามีอาการแพ้รุนแรง ยืนยันว่า การฉีดวัคซีน HVP ในเด็กที่อายุตามเกณฑ์ มีความปลอดภัย และจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดยาวนานถึง 20 ปี
นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยว่า วัคซีนมีการรับรองโดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐมานานแล้ว และมีการใช้แพร่หลายมาเป็น 10 ปี ขณะที่ ในประเทศไทย สำนักคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้รับรองตั้งแต่ปี 2550 และใช้มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และหลักฐานทางการแพทย์พิสูจน์ชัดเจนว่า มีประโยชน์ในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ จึงมีการบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์ตั้งแต่ปี 2560 โดยฉีดให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นต้นมา
ด้าน ภญ.วรางคณา โกละกะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช สถาบันมะเร็ง กล่าวว่า การที่ฉีดวัคซีนในเด็กนั้น ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงกว่าในวัยผู้ใหญ่ และการฉีดในเด็กที่อายุไม่เกิน 14 ปี อาจจะใช้วัคซีนเพียงแค่ 2 เข็ม ซึ่งทำให้เกิดประสิทธิภาพค่อนข้างสูง
นอกจากนี้ โดยปกติแล้วการฉีดวัคซีนจะมีอาการแพ้ได้บ้าง ซึ่งก็จะแบ่งเป็นกลุ่มที่แพ้เพียงเล็กน้อย จะมีอาการปวด บวมแดง บริเวณที่ฉีดหรือมีไข้ต่ำๆ ส่วนในรายงานที่มีการแพ้รุนแรงก็มีบ้าง แต่รายงานที่มีการแพ้ถึงขั้นเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกนั้นยังไม่พบ
ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุอีกว่า มะเร็งปากดลูกถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งปี พ.ศ. 2562 มีจำนวนผู้ป่วยหญิงรายใหม่ประมาณ 5,500 ราย และมีหญิงไทยเสียชีวิต ประมาณ 2,200 ราย โดยมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุหลักๆ มาจากการติดเชื้อ ไวรัส HPV ที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยพบว่าการเกิดมะเร็งปากมดลูกมี ความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ HPV มากกว่าร้อยละ 90 โดยแนวโน้มพบผู้ป่วยลดลง
สำหรับการป้องกันมะเร็งปากมดลูก คือการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ โดยหญิงไทยอายุตั้งแต่ 30-60 ปี สามาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรีได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิของตนเอง และการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หากมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำเป็นต้องฉีดวัคซีนทั้งหมด 3 เข็ม เพื่อเพิ่มประสิทธิในการป้องกันโรค
พรรษนันท์ ช่างคิด สำนักข่าว TNN รายงาน
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE