รีเซต

เอดีบีชี้ โควิดทำ 4.7ล้านคน ในเอเชียตอ.เฉียงใต้ ยากจนสุดขีด

เอดีบีชี้ โควิดทำ 4.7ล้านคน ในเอเชียตอ.เฉียงใต้ ยากจนสุดขีด
มติชน
16 มีนาคม 2565 ( 14:52 )
41

ธนาคารพัฒนาเอเชีย(เอดีบี) เผยแพร่รายงานเรื่อง “การฟื้นตัวจากโรคระบาดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ในที่ประชุมเชิงสัมนาการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEADS) เมื่อวันที่ 16 มีนาคมระบุว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทำให้ผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 4.7 ล้านคน ตกอยู่ในความยากจนสุดขีดในปี 2564 ขณะที่การจ้างงานในปีดังกล่าวได้หายไปมากถึง 9.3 ล้านอัตรา เมื่อเทียบกับสถานการณ์ทั่วไปที่ไม่มีโรคโควิด-19

 

รายงานเอดีบีระบุว่า การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน ยังอาจส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ในปี 2565 ปรับลดลง 0.8% ขณะที่คาดว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในปีนี้ จะยังคงมีต่ำกว่าสถานการณ์ปกติที่ไม่มีโควิดมากกว่า 10% โดยในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มแรงงานที่ไร้ทักษะ และแรงงานในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและเศรษฐกิจนอกระบบ ตลอดจนธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีตัวตนในโลกดิจิทัล

 

“โรคระบาดใหญ่ได้นำไปสู่การว่างงานในวงกว้าง ความเหลื่อมล้ำที่แย่ลง และ ความยากจนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ผู้หญิง แรงงานอายุน้อยและกลุ่มผู้สูงอายุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นายมาซาาสึกุ อาซากาวา ประธานเอดีบีกล่าว และว่า เอดีบีจะทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบายต่อไป ขณะพยายามฟื้นฟู ปรับปรุงระบบสาธารณสุขแห่งชาติ และปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ เราสนับสนุนรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และรับเอานวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

 

เอดีบีชี้อีกว่า แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจจะสดใสขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย การฟื้นตัวขึ้นของการส่งออกสินค้าหรือทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งชี้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วภูมิภาค โดยประเทศส่วนใหญ่จะเห็นการไปยังพื้นที่ค้าปลีกและสันทนาการเพิ่มขึ้น 161% อย่างไรก็ดีภูมิภาคนี้จะยังเผชิญลมปะทะต่างๆ ได้ ที่รวมถึงการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปัญหาดิสรัปชั่นในระบบห่วงโซ่อุปทาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น

 

เอดีบียังเรียกร้องให้รัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดสรรทรัพยากรเพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนระบบสาธารณสุข ปรับปรุงการเฝ้าระวังโรคและตอบสนองต่อโรคระบาดใหญ่ในอนาคต นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ประเทศต่างๆ ทำการปฏิรูป
โครงสร้างเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและการผลิต ที่รวมถึงการลดอุปสรรคทางการค้า การสนับสนุนภาคธุรกิจรายย่อยในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ และฝึกอบรมทักษะความชำนาญให้กับแรงงาน เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง