รีเซต

'ไทย' คัมแบ็กติดเชื้อพุ่ง 8,078 ราย กทม.กว่า 1,000 ราย ติดต่อกันกว่า 1 สัปดาห์

'ไทย' คัมแบ็กติดเชื้อพุ่ง 8,078 ราย กทม.กว่า 1,000 ราย ติดต่อกันกว่า 1 สัปดาห์
มติชน
27 มกราคม 2565 ( 12:06 )
57

‘ไทย’ คัมแบ็กติดเชื้อพุ่ง 8,078 ราย กทม.กว่า 1,000 ราย ติดต่อกันกว่า 1 สัปดาห์ ‘สธ.’ เผย เริ่มปักเข็ม ไฟเซอร์เด็กฝาสีส้ม 31 ม.ค. นี้

 

เมื่อวันที่ 27 มกราคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก มียอดผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่ม 3,522,559 ราย มียอดรวม 363,064,303 ราย รักษาหายแล้ว 2,187,287 ราย เสียชีวิตรวม 10,647 ราย โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 74,176,403 ราย อินเดีย 40,369,585 ราย บราซิล 24,553,950 ราย ฝรั่งเศส 17,730,556 ราย และสหราชอาณาจักร 16,149,319 ราย

 

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อประจำวันนี้ (27 ม.ค.) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,078 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวัง และระบบบริการฯ จำนวน 7,772 ราย จากการค้นหาเชิงรุกจำนวน 44 ราย จากเรือนจำจำนวน 37 ราย และผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศจำนวน 225 ราย ซึ่งทำให้มีจำนวนผู้ป่วยรวมสะสม 183,587 ราย ในส่วนของผู้ที่หายป่วยวันนี้ มีจำนวน 6,595 ราย รวมหายป่วยสะสม 133m670 ราย มีผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับการรักษาอยู่ 82,760 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยอาการหนัก 548 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 102 ราย สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตในวันนี้มีจำนวน 22 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 400 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.22

สำหรับรายงานผู้เสียชีวิตทั้ง 22 ราย แบ่งเป็น กรุงเทพมหานคร 2 ราย ปทุมธานี 2 ราย นนทบุรี 1 ราย นครราชสีมา 2 ราย เลย 1 ราย กาฬสินธุ์ 1 ราย มหาสารคาม 1 ราย หนองบัวลำภู 1 ราย แม่ฮ่องสอน 1 ราย น่าน 1 ราย ลำปาง 1 ราย พัทลุง 2 ราย ระนอง 1 ราย กาญจนบุรี 2 ราย ชลบุรี 1 ราย อยุธยา 1 ราย และสุพรรณบุรี 1 ราย ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตเป็นเพศชายทั้งหมด 12 ราย และเพศหญิง 10 ราย ค่าเฉลี่ยอายุของผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 74 ปี

 

โดยในประเทศไทย จำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อ 1,427 ราย สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อ 692 ราย นนทบุรี พบผู้ติดเชื้อ 460 ราย ชลบุรี พบผู้ติดเชื้อ 334 ราย ภูเก็ต พบผู้ติดเชื้อ 332 ราย ขอนแก่น พบผู้ติดเชื้อ 247 ราย นครศรีธรรมราช พบผู้ติดเชื้อ 204 ราย ปทุมธานี พบผู้ติดเชื้อ 195 ราย ราชบุรี พบผู้ติดเชื้อ 187 ราย อุดรธานี พบผู้ติดเชื้อ 129 ราย และลพบุรี พบผู้ติดเชื้อ 129 ราย

 

สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีน ประเทศไทยฉีดวัคซีนแล้วรวม 113,622,267 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 เพิ่มขึ้น 44,412 ราย คิดเป็นร้อยละ 75 ของจำนวนประชากรทั้งหมด เข็มที่ 2 เพิ่มขึ้น 74,003 ราย คิดเป็นร้อยละ 69.5 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และเข็มที่ 3 เพิ่มขึ้น 322,256 ราย คิดป็นร้อยละ 18.8 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

 

ในส่วนของผลการดำเนินงานรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร พบว่า มีผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 27 ม.ค. วันนี้พบว่าติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 225 ราย โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อนั้นผ่านเข้าราชอาณาจักรผ่านระบบ Test & Go 17 ราย ระบบแซนด์บ็อกซ์ 186 ราย ระบบการกักตัว 21 ราย และลักลอบเข้ามา 1 ราย

 

นอกจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกประกาศเกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับเด็ก (ฝาสีส้ม) โดยวัคซีนดังกล่าวได้เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว และจะเริ่มฉีดในวันที่ 31 ม.ค. นี้ ทั้งนี้ กลุ่มแรกจะกระจายให้กับเด็กที่มีความเสี่ยงก่อน

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยคณะฯ ได้แถลงข่าว การจัดบริการวัคซีนโควิด 19 เด็กอายุ 5-11 ปี โดยกล่าวว่า วัคซีน Pfizer สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ล็อตแรก 3 แสนโดส มาถึงไทยแล้ว ส่งวัคซีนและเอกสารให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพ จากนั้นจะส่งไปยังจุดฉีดทั่วประเทศต่อไป และจะทยอยส่งทุกสัปดาห์จนครบ 3.5 ล้านโดส ภายในไตรมาสแรก กำหนดฉีด 2 เข็มห่างกัน 8 สัปดาห์ ส่วนเด็กที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.โรคอ้วน 2.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง 3.หัวใจและหลอดเลือด 4.ไตวายเรื้อรัง 5.มะเร็งและภูมิคุ้มกันต่ำ 6.เบาหวาน 7.โรคพันธุกรรม ทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า จะฉีดที่โรงพยาบาล ระยะห่างสามารถนานได้ถึง 12 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกุมารแพทย์ที่เป็นผู้รักษา ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนให้กับเด็กยังเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ปกครองไม่มีการบังคับ

 

ทั้งนี้ หลังฉีดวัคซีนแล้วเด็กมีอาการผิดปกติที่ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อประเมินอาการ คือ 1.กลุ่มโรคหัวใจในช่วง 2-7 วัน ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น และ 2.กลุ่มอาการอื่น คือ ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน กินไม่ได้ ซึมหรือไม่รู้สึกตัว ซึ่งทั่วประเทศมีกุมารแพทย์กว่า 2 พันคน สามารถประเมินอาการ ให้การรักษาและส่งต่อไปโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป รวมถึงสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง