ประชากรกว่าครึ่งของโลกอยู่ในพื้นที่มีมลพิษทางอากาศรุนแรงขึ้นทุกขณะ

ผลการศึกษาล่าสุดซึ่งจัดทำโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และสถาบันวิจัยบางแห่งของสหราชอาณาจักร เผยว่าปัจจุบันประชากรกว่าครึ่งของโลกอาศัยอยู่ในบริเวณที่มลพิษทางอากาศทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้คนในเมืองใหญ่หรือในชนบทก็ตาม
รายงานวิจัยดังกล่าวซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพอากาศทั่วโลกระหว่างปี 2010-2016 ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Climate and Atmospheric Science โดยระบุว่าประชากรโลกอย่างน้อย 1 คนในทุก 2 คน กำลังอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งคุณภาพอากาศย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง เพราะมีปริมาณของฝุ่นอนุภาคละเอียดอย่างเช่น PM2.5 ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีทีท่าว่าจะสามารถหยุดยั้งได้
- พบมวลอากาศบริสุทธิ์สะอาดที่สุดของโลกเหนือมหาสมุทรแอนตาร์กติก
- บรรยากาศโลกมีฝุ่นหยาบในปริมาณมากกว่าที่คาดไว้ถึง 4 เท่า
- มลพิษทางอากาศทำให้กระดูกมนุษย์อ่อนแอลง
ศาสตราจารย์เกวิน แชดดิก จากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ของสหราชอาณาจักร ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า "ผู้คนในยุโรปและอเมริกาเหนือเผชิญกับมลพิษทางอากาศน้อยที่สุด เนื่องจากนโยบายสิ่งแวดล้อมในระยะยาวของรัฐกำลังให้ผลดี แต่ผู้คนในเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศระดับสูงสุดของโลกในขณะนี้ โดยบางประเทศมีปริมาณฝุ่นพิษหนาแน่นกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกถึง 5 เท่า"
ศ. แชดดิกยังย้ำว่า ปัญหามลพิษทางอากาศทวีความรุนแรงขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยไม่เลือกว่าจะเป็นพื้นที่ในเมืองใหญ่หรือในชนบท เช่นในพื้นที่ห่างไกลความเจริญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความหนาแน่นของฝุ่นอนุภาคละเอียดเพิ่มขึ้นถึง 11% ตลอดช่วง 7 ปีที่ได้ทำการศึกษา
"มลพิษทางอากาศสามารถกระจายตัวไปได้ไกลกว่าที่เคยคาดกันไว้ ทั้งก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสุขภาพได้แม้ในพื้นที่ชนบท ดังนั้นความพยายามแก้ไขปัญหานี้จะต้องครอบคลุมทุกพื้นที่ในภาพรวม โดยไม่มุ่งเน้นไปแต่ที่เมืองใหญ่เท่านั้น" ศ. แชดดิกกล่าว
นอกจากมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์แล้ว ทีมผู้วิจัยยังพบว่าการกระจายของฝุ่นละอองเนื่องจากพายุทรายก็ทวีความรุนแรงขึ้นด้วย ดังเช่นที่พบในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ทำให้คุณภาพอากาศในหลายพื้นที่ของโลกย่ำแย่ลงอย่างมาก โดยปรากฏการณ์นี้เป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
ยอดนิยมในตอนนี้
