รีเซต

โควิดระลอกใหม่ฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค. หอการค้าจับตาประชาชนชะลอการใช้จ่ายถึงไตรมาส 2

โควิดระลอกใหม่ฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค. หอการค้าจับตาประชาชนชะลอการใช้จ่ายถึงไตรมาส 2
ข่าวสด
4 กุมภาพันธ์ 2564 ( 16:22 )
35

โควิดระลอกใหม่ฉุดความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค. หอการค้าจับตาประชาชนชะลอการใช้จ่ายถึงไตรมาส 2 หวังมาตรการรัฐช่วยพยุงเศรษฐกิจ

 

โควิดฉุดการใช้จ่าย - นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนม.ค. 2564 ว่า จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,243 คน พบผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค. 2564 อยู่ที่ 47.8 จาก 50.1 ในเดือนธ.ค. 2563 โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ ลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ค. ปีที่แล้ว และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 41.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 45.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 56.8

 

“การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการในเดือนม.ค.นี้ แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงย่ำแย่จากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ การท่องเที่ยว การส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้”

 

นอกจากนี้ ยังคาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างมากตลอดจนไตรมาส 1 ของปีนี้ ไปจนถึงต้นไตรมาส 2 จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยจะคลายตัวลง ซึ่งต้องติดตามผลของการควบคุมโควิด-19 ในประเทศว่าจะคลี่คลายลงได้เร็วแค่ไหน รวมติดตามว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมานี้จะช่วยเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ ให้สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะมีขึ้นในกลางเดือนก.พ.นี้ ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ล้วนมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเป็นอย่างมาก

 

อย่างไรก็ตาม ศูนย์พยากรณ์ฯ ยังคงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยสำหรับปีนี้ไว้ที่ 2.8% โดยขอรอดูผลจากมาตรการและโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่นำมาใช้ในการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้มีการประเมินเบื้องต้นว่า เม็ดเงินจากโครงการ “เราชนะ” ที่ 2.1 แสนล้านบาท คาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1.2% โครงการ “คนละครึ่ง” 53,000 ล้านบาท คาดกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.3% และโครงการ “เรารักกัน” 40,000 ล้านบาท คาดกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.2% ซึ่งหากรวมมาตรการทั้งหมดแล้ว จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นอีก 1.7% ขณะเดียวกัน ยังมีความหวังในเรื่องการกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ได้อีกราว 4-6 ล้านคน

 

นายธนวรรธน์ ยังกล่าวอีกว่า จากมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะช่วยส่งผลให้ไม่มีการปลดคนงาน โดยสามารถรักษาการจ้างงานในระบบไว้ได้ 6-9 แสนคน ช่วยให้มีแรงงานกลับเข้ามาในกลุ่มธุรกิจค้าขาย ขนส่ง และกลุ่มอาหาร อัตราการว่างงานไม่ทะลุเกิน 2% และมีโอกาสกลับลงมาอยู่ที่ระดับ 1-1.5% ได้ อีกทั้งยังช่วยในการลดหนี้ครัวเรือนลงได้ โดยคาดว่าปีนี้หนี้ครัวเรือนจะไม่ขึ้นไปแตะระดับ 90% ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) และอาจจะอยู่ที่ระดับ 84-85% ต่อจีดีพี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง