รีเซต

ทองคำอ่อนไหวกับอัตราดอกเบี้ย

ทองคำอ่อนไหวกับอัตราดอกเบี้ย
TNN ช่อง16
22 มีนาคม 2564 ( 11:03 )
96
ทองคำอ่อนไหวกับอัตราดอกเบี้ย


GOLD BULLISH

  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์

  • การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)


GOLD BULLISH

  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเพิ่มขึ้น

  • แรงเทขายทองคำของกองทุนอีทีเอฟทองคำ

  • การกระจายวัคซีนโควิด-19


เฟดยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2566 


การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นประเด็นที่ตลาดการเงินทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมาก ผลการประชุม    เฟดมีมติผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป ทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0-0.25% และมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน ตรงนี้ผมมองว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์กันไว้แล้ว


แต่ที่น่าสนใจและเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำเพิ่มขึ้นคือเฟดส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2566 ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวสูงขึ้นก็ตาม หลังจากสหรัฐได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้รอบนี้เฟดมีการปรับเพิ่มทั้งอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ 


ซึ่งเฟดได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของจีดีพีในปี 2564 เป็น 6.5% จาก 4.2% ที่ประมาณการเดิมในเดือนธ.ค.2563  ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น  2.2% เกินกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่  2.0% แต่มุมมองของเฟดคงมองว่าอัตราเงินเฟ้ออาจเร่งตัวในระยะสั้นก็ได้ ขณะที่ตลาดดูเหมือนจะไม่เชื่อว่าเฟดจะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2566 สะท้อนถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปีที่ยังเพิ่มขึ้นหลังการประชุมเฟด ซึ่งพุ่งสูงขึ้นทะลุ  1.7%



ทองคำอ่อนไหวกับอัตราดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน


อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดกับราคาทองคำมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามอย่างมีนัยสำคัญ  ถ้าอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ราคาทองคำจะลดลง แต่ถ้าอัตราดอกเบี้ยเป็นขาลง  ราคาทองคำจะปรับขึ้น ดังนั้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐยังต่ำๆ ตลอดจนถึงปีนี้ ทองคำยังพอมีปัจจัยหนุนอยู่บ้าง แล้วเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อไหร่ หลังปี 2566 หรือจะก่อนหน้านั้น ในมุมมองของผมคาดว่าเร็วที่สุดที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะปลายปีหน้า แล้วถ้ามองข้ามไปถึงช่วงเวลาที่เฟดเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ราคาทองคำจะปรับลดลง มากน้อยแค่ไหน


กรณีเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าจะไม่ค่อยกระทบต่อราคาทองคำ เมื่อย้อนกลับไปในปี 2559-2560 สมัยที่เจเน็ตเยลเลนเป็นประธานเฟดมีการทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยปีละ 0.25% ไม่ได้กระทบทางลบต่อราคาทองคำ ราคาทองคำ Spot ในปี 2559-2560 ยังเพิ่มขึ้น 8% และ 13% ตามลำดับ


กรณีเฟดเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย คาดจะส่งกระทบต่อราคาทองคำอย่างมาก สังเกตได้จากในปี 2561 ที่เจอโรม พาวเวลเข้ารับตำแหน่งประธานเฟด มีการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งเป็นปัจจัยลบหลักต่อราคาทองคำอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ราคาทองคำปรับลงต่ำกว่า 1,200 ดอลลาร์ในช่วงเดือนก.ย.2561 จากระดับ 1,365 ดอลลาร์ในเดือนเม.ย.2561


สัปดาห์นี้ราคาทองคำคาดเคลื่อนไหวในกรอบ 1,700-1,760 ดอลลาร์ ทองคำมีแนวต้านสำคัญ 1,760 ดอลลาร์ ถ้าผ่านขึ้นไปจะแนวต้านถัดไปที่ 1,780 ดอลลาร์ ประเด็นสำคัญสัปดาห์นี้อยู่ที่การแถลงของประธานาธิบดีโจ ไบเดน การกล่าวสุนทรพจน์นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และจีดีพีไตรมาส 4 ของสหรัฐ 


ทั้งนี้ถ้าการแถลงของประธานาธิบดีโจ ไบเดนมีการกล่าวถึงการพิจารณาปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% และปรับขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่มีรายได้มากกว่า 4 แสนดอลลาร์ต่อปีขึ้นไป จะส่งผลลบต่อตลาดหุ้นสหรัฐและส่งผลบวกทางอ้อมต่อตลาดทองคำ สำหรับปัจจัยลบยังเป็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ยังมีความผันผวน แรงเทขายทองคำของกองทุนอีทีเอฟทองคำ 


สัปดาห์นี้ทองคำ Spot มีแนวรับ 1,720 ดอลลาร์ และ 1,700 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้านที่ 1,760 ดอลลาร์ และ 1,780 ดอลลาร์ ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองแท่งในประเทศ ซึ่งสัปดาห์นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน คาดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50%  ราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 25,200 บาท และ 24,950 บาท ขณะที่มีแนวต้านที่ 25,650 บาท และ  25,850 บาท



ข่าวที่เกี่ยวข้อง