รีเซต

นาซาเลื่อนวันกำหนดแผนช่วยนักบินอวกาศภารกิจ Starliner เป็นปลายสิงหาคม

นาซาเลื่อนวันกำหนดแผนช่วยนักบินอวกาศภารกิจ Starliner เป็นปลายสิงหาคม
TNN ช่อง16
17 สิงหาคม 2567 ( 16:23 )
26

ภารกิจการช่วยเหลือนักบินอวกาศยาน Starliner จำนวน 2 คน ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา เคน โบเวอร์ซอกซ์ (Ken Bowersox) รองผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการทางอวกาศของนาซาได้แถลงการณ์ว่า ในขณะนี้ทีมงานกำลังวางแผนตรวจสอบความพร้อมของยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) เพื่อกำหนดรูปแบบการนำยานอวกาศกลับโลกว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน ก่อนการประกาศอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนสิงหาคม โดยเลื่อนจากกำหนดการเดิมที่จะต้องประกาศแผนช่วยเหลือในช่วงกลางเดือนสิงหาคม


ก่อนหน้านี้นักบินอวกาศบัทช์ วิลมอร์ (Butch Wilmore) และซูนี วิลเลียมส์ (Suni Williams) ซึ่งเดินทางขึ้นจากโลกด้วยยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และเข้าเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศ ISS นานาชาติสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ทีมงานได้ตรวจพบปัญหาเกี่ยวกับการรั่วไหลของเชื้อเพลิงบนยาน และทำให้นักบินอวกาศทั้ง 2 คน ต้องอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS นานขึ้นกว่าแผนการเดิมที่กำหนดเอาไว้เพียง 8 วัน จนกว่านาซาจะประกาศแผนช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ


เคน โบเวอร์ซอกซ์ รองผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการทางอวกาศของนาซา เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่าในขณะนี้ทีมงานกำลังตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องขับดันระบบควบคุมปฏิกิริยา (RCS) ทั้งหมดจำนวน 5 เครื่อง ที่ประสบปัญหาในระหว่างที่ยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) เข้าเทียบท่ากับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS โดยนาซาได้ระดมผู้เชี่ยวชาญจากทั่วทั้งในและนอกหน่วยงาน เพื่อทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับเครื่องขับดันเหล่านี้ และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่คล้ายคลึงกันหากมีการตัดสินใจนำยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) เดินทางผ่านชั้นบรรยากาศกลับโลก


ทีมงานนาซาใช้แบบจำลอง 3 มิติ ช่วยวิเคราะห์เครื่องขับดันระบบควบคุมปฏิกิริยา (RCS) ซึ่งมีรายละเอียดระบบภายในวาล์วเชื้อเพลิงเพื่อจำลองผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยข้อมูลจากการศึกษาเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการตัดสินใจของนาซาว่าจะนำนักบินอวกาศทั้ง 2 คน กลับกลับโลกด้วยยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) หรือไม่ ทั้งนี้การตัดสินใจจะต้องเกิดขึ้นโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักบินอวกาศทั้ง 2 คน มาเป็นลำดับแรก


นาซาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักบินอวกาศในการทำภารกิจต่าง ๆ เนื่องจากได้นาซาเคยได้รับบทเรียนจากความผิดพลาดเล็กน้อยในภารกิจกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ปี 1986 และโคลัมเบียปี 2003 ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่และทำให้นักบินอวกาศบนกระสวยอวกาศทั้ง 2 ลำ เสียชีวิตทั้งหมด ดังนั้น ความผิดปกติใด ๆ แม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อยนาซาจะไม่ปล่อยผ่านหรือเดินทางหน้าภารกิจต่อไปหากไม่โดนตรวจสอบความผิดปกตินั้นเสียก่อน


สำหรับแนวทางช่วยเหลือที่ผู้เชี่ยวชาญและสื่อต่าง ๆ นำเสนอออกไปก่อนหน้านี้ที่ต้องใช้ยานครูว์ดรากอน (Crew Dragon) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เดินทางขึ้นไปรับนักบินอวกาศทั้ง 2 คน กลับโลกนั้น ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ และคาดว่าจะต้องรอผลการศึกษาและการตัดสินใจของนาซาในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้เช่นเดียวกัน


ที่มาของข้อมูล Spacenews

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง