หนี้ "SMEs-ครัวเรือน" จุดเปราะบาง ระบบการเงินไทย
ภายหลังการผ่อนคลาย มาตรการปิดเมืองและรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยวในประเทศ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง หลังจากหดตัวลึกสุดในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 แต่คาดกันว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีนับจากจุดที่เศรษฐกิจไทยหดตัวลึกสุด กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจึงจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากประเทศไทยยังจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศจนกว่าจะมีการได้รับวัคซีนอย่างแพร่หลาย ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงปลายปี 2564
ดังนั้นในช่วงเวลาก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว ถือเป็นความท้าทายของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ปัญหานี้จะส่งต่อถึงระดับความสามารถการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ และครัวเรือนอย่างไร และจะส่งผ่านไปถึงระบบการเงินไทย จนกลายเป็นความเสี่ยงของระบบการเงินไทยหรือไม่ โดยเฉพาะสถาบันการเงิน จะยังมีความแข็งแกร่งรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน เศรษฐกิจอินไซต์จะเจาะลึกประเด็นนี้กัน
จากรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย 2563 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในระยะต่อไป “ระบบการเงินไทย” ต้องเผชิญความท้าทายสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ที่ยังต้องใช้เวลาและมีความไม่แน่นอน โดยมีจุดเปราะบางสำคัญ คือ ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ซึ่งอาจส่งผ่านความเสี่ยงไปยังภาคส่วนอื่นในระบบการเงินได้ โดยเฉพาะผ่านทางคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงของระบบสถาบันการเงิน
เนื่องจาก ข้อมูลของธปท. พบว่าภาวะเศรษฐกิจที่กำลังค่อยๆ ฟื้นตัวจากจุดที่ต่ำสุดมาแล้วนั้น ในแต่ละภาคธุรกิจมีการฟื้นตัว "ไม่เท่ากัน" บางธุรกิจสามารถฟื้นตัวกลับมาใกล้ระดับเดียวกันกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว เช่น ธุรกิจเครื่องดื่ม ธุรกิจปิโตรเลียม และธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่ธุรกิจในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่แม้อุปสงค์ในประเทศจะปรับเพิ่มขึ้นบ้าง โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและธุรกิจสายการบินที่การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ยังอยู่เพียงร้อยละ 28 และ 44 ของช่วงก่อนโควิด-19 ตามลำดับ
ติดตามรายละเอียดเพิ่มได้ที่..รายการ "เศรษฐกิจ Insight" วันอังคารที่ 12 มกราคม 2564
ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางภาคธุรกิจอาจไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับเดิมก่อนโควิด-19 เนื่องจากบางภาคธุรกิจมีปัญหาเชิงโครงสร้างตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีอุปทานส่วนเกิน (oversupply) เป็นต้น รวมถึงโควิด-19 ส่งผลให้บริบทของธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งก่อให้เกิดปัญหา excess capacity เพิ่มขึ้น ภายใต้ new normal เช่น ธุรกิจโรงแรมอาจต้องปรับตัวรองรับอุปสงค์ที่ต่ำลง ภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาเหล่านี้จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้ในระยะสั้น ควบคู่กับการปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในระยะยาว
นอกจากนี้ การฟื้นตัวยังขึ้นกับ “ขนาดของธุรกิจ” โดยผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพยุงธุรกิจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งสถาบันการเงิน มีแนวโน้มระมัดระวังความเสี่ยงและชะลอการปล่อยสินเชื่อให้แก่ SMEs ในช่วงที่สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งอาจส่งผลให้SMEs ที่มีศักยภาพแต่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมไม่ได้รับโอกาสในการฟื้นตัว หรือฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ดี ธปท. ได้ประเมินความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของ SMEs ในระยะ 2 ปีข้างหน้า (2564-2565) พบว่า ร้อยละ 22 ของ SMEs ที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินมีโอกาสที่จะประสบปัญหาสภาพคล่องไม่เพียงพอรองรับภาระหนี้และค่าใช้จ่ายในระยะ 2 ปีข้างหน้า
โดย SMEs ที่ขาดสภาพคล่องส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงโดยตรงจากโควิด19 ได้แก่ ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารและธุรกิจโรงแรม และในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของอุปสงค์ ทั้งในและต่างประเทศตามรายได้ของครัวเรือนที่ลดลง เช่น ธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจการค้า สำหรับธุรกิจการค้า แม้จะมีสัดส่วนผู้ได้รับผลกระทบไม่สูงนักแต่มีบริษัทที่ประสบปัญหาสภาพคล่องเป็นจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ จึงถือเป็นภาคธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงหลังปี 2563 แต่ละภาคธุรกิจจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูงจะใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่า โดยคาดว่าในปี 2565 จะยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 อย่างไรก็ดี ข้อมูลล่าสุดพบว่าหลายภาคธุรกิจมีการฟื้นตัวที่ดีกว่าคาด โดยเฉพาะภาคยานยนต์
แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาคือ ธุรกิจที่ประสบปัญหาสภาพคล่องมักจะมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นด้วย หากไม่ได้รับการแก้ไขหรือช่วยเหลืออย่างทันทวงที
ติดตามรายละเอียดเพิ่มได้ที่..รายการ "เศรษฐกิจ Insight" วันอังคารที่ 12 มกราคม 2564
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE