รีเซต

นพ.ทวี ยืนยัน วัคซีน ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ประสิทธิภาพ ไม่ต่างมาก

นพ.ทวี ยืนยัน วัคซีน ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ประสิทธิภาพ ไม่ต่างมาก
ข่าวสด
29 เมษายน 2564 ( 18:24 )
153
นพ.ทวี ยืนยัน วัคซีน ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ประสิทธิภาพ ไม่ต่างมาก

 

โควิด : นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ชี้ วัคซีน ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันมาก อยู่ในเกณฑ์ที่ทั่วโลกยอมรับ จัดการเชื้อกลายพันธุ์ได้

 

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวถึงการฉีดวัคซีน โควิด-19 ว่า วัคซีนเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับเชื้อโรค เดิมใช้เวลาวิจัย 5-10 ปี ก่อนนำมาใช้

 

แต่ในการระบาด โควิด ใช้เวลาเพียง 10 เดือน จึงเป็นการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินที่จะต้องเฝ้าระวังมากกว่าปกติ เช่น สังเกตอาการ 30 นาที หลังฉีด รายงานผลในช่วงวันที่ 1, 3, 7 และ 30 หลังฉีด สำหรับวัคซีนชนิดอื่นที่ไทยจะจัดหาเพิ่มต้องผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

 

นพ.ทวี กล่าวต่อว่า สำหรับประสิทธิภาพวัคซีน ทั้ง "ซิโนแวค" และ "แอสตร้าเซนเนก้า" ที่ไทยใช้ไม่ต่างกันมาก อยู่ในเกณฑ์ที่ทั่วโลกยอมรับ มีประสิทธิภาพที่ดี ส่วนรองรับเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่นั้น วัคซีนซิโนแวค ประเทศจีนศึกษาวิจัยนำน้ำเหลืองของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และของผู้ป่วยที่หายแล้ว มาจัดการกับไวรัสกลายพันธุ์ สามารถทำได้ระดับหนึ่ง

 

แต่ต้องยอมรับว่าไม่ดีเทียบเท่ากับเชื่อดั้งเดิม ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า กับสายพันธุ์อังกฤษก็สู้กับเชื้อได้ประมาณ 70% แต่สู้ได้ถึง 81% กับสายพันธุ์ดั้งเดิม สรุปได้ว่าวัคซีนที่มีอยู่ในมือยังรับมือเชื้อกลายพันธุ์ได้ แต่อาจไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

 

"ทั่วโลกขณะนี้มีวัคซีนที่ทดสอบในคนระยะที่ 3 สำเร็จ และกำลังจดทะเบียนประมาณ 13-15 ตัว ทุกตัวมีผลในการป้องกันการเสียชีวิต ป้องกันอาการรุนแรงของโรค ลดการนอนไอซียูและการใส่ท่อช่วยหายใจได้เกือบ 100%

 

จึงเป็นหัวใจว่า วัคซีนต้องการต่อสู้กับความรุนแรงของโรค โดยผู้ป่วยในไอซียู 1 ราย จะต้องใช้ทรัพยากรทั้งบุคคล ยา เวชภัณฑ์มหาศาล ฉะนั้นเมื่อมีจำนวนผู้ป่วยมาก การแพทย์กังวลที่สุดคือผู้ป่วยไอซียู แต่ขณะนี้เรายังรับมือได้อยู่" นพ.ทวี กล่าว

 

 

นพ.ทวี กล่าวต่อว่า ประเด็นความปลอดภัยของวัคซีน พบว่าวัคซีนซิโนแวคมีผลข้างเคียงน้อยกว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จะมีประมาณ 20-30% พบอาการปวด บวม แดงร้อน ปวดร่างกายหลังฉีด แต่จะหายไปภายใน 2 วัน ส่วนกรณีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ พบอาการคล้ายอัมพฤกษ์ชั่วคราวหลังฉีด จากการวิเคราะห์พบว่า เป็นผลข้างเคียงจากความวิตกกังวล รวมถึงความอ่อนเพลียจากการทำงาน ซึ่งอาการหายภายใน 3 วัน

ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า มีผลข้างเคียงที่คล้ายกัน เช่น ปวดศีรษะ ปวดร่างกาย แดงร้อน ซึ่งเกิดขึ้นสูงถึง 40-50% แต่หายภายใน 2 วัน กรณีลิ่มเลือดอุดตันที่พบในต่างประเทศ เกิดขึ้นได้ 4 ใน 1 ล้านโดส และพบน้อยในกลุ่มคนทวีปเอเชีย แต่การศึกษาพบว่า หากเป็นผู้ติดเชื้อ โควิด-19 มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ 125,000 ต่อ 1 ล้านคนที่ป่วย ซึ่งสูงกว่าการเกิดจากวัคซีนเป็นร้อยเท่า

"วัคซีนสามารถฉีดได้ทุกตัว ตัวไหนก็ดี แต่ก่อนฉีดก็จะต้องรับข้อมูลต่าง ๆ ให้พร้อมเพื่อสร้างความพร้อมก่อนฉีด สิ่งสำคัญที่สุดคือ คนที่ฉีดวัคซีนจะป้องกันตัวเอง ป้องกันครอบครัวได้ เพราะการระบาดรอบนี้มีการติดเชื้อภายในครอบครัวเยอะทั้งเด็กและผู้สูงอายุ ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต และสุดท้ายคือป้องกันการระบาดได้ เพื่อให้เราค่อย ๆ แง้มประตูเปิดประเทศ ทำให้เราค่อยๆ กลับมาใช้วิถีชีวิตได้ปกติ"

นพ.ทวี กล่าวอีกว่า กรณีหญิงตั้งครรภ์ มีข้อมูลออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ติด โควิด-19 สูงกว่าตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อถึง 22 เท่า ดังนั้น ประเด็นการฉีดวัคซีนให้ปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน โดยผู้รับจะต้องชั่งน้ำหนักผลประโยชน์ ผลดีและผลเสียเอง

โดยข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า หญิงตั้งครรภ์ 35,000 คน ที่ได้รับวัคซีน ไม่ค่อยมีผลต่อครรภ์ แต่อาจจะมีผู้ที่คลอดก่อนกำหนดบ้างเล็กน้อย แต่ขณะนี้เรายังไม่ฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ เว้นหากมีความเสี่ยงก็จะพิจารณาฉีดได้ ซึ่งจะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง