รีเซต

หุ้นไทยปิดท้ายปีลุ้นเหนื่อย โอไมครอน-ทิศทางเฟดชี้ชะตา

หุ้นไทยปิดท้ายปีลุ้นเหนื่อย  โอไมครอน-ทิศทางเฟดชี้ชะตา
TNN ช่อง16
13 ธันวาคม 2564 ( 14:02 )
85

แม้ตลาดหุ้นไทยในปีนี้จะทำผลตอบแทนได้ค่อนข้างโดดเด่นเมื่อเทียบกับหลายๆ ตลาด แต่หากดูเส้นทางความเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีหลายช่วงที่ต้องเผชิญกับภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน ลุ้นกันจนตัวโก่ง จากปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งการแพร่ระบาดโควิด เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น รวมถึงปัจจัยการเมืองในประเทศและระหว่างประเทศ

   

ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ก็ยังไม่ได้กลับมามั่นใจในตลาดหุ้นไทยอย่างเต็มที่ ยังเห็นการไหลเข้าออกของเงินทุนสลับกันเป็นระยะ ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่าต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิไปแล้ว 75,158 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันขายสุทธิกว่า 63,059 ล้านบาท สวนทางกับนักลงทุนรายย่อยที่ซื้อสุทธิ 1.26 แสนล้านบาท และบัญชีบล.ซื้อสุทธิ 11,417 ล้านบาท


นอกจากนี้ความกังวลโควิดสายพันธุ์ใหม่กลับมาอีกครั้ง หลังหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการแพร่ระบาดหนัก และมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ปัจจัยนี้จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีฉลูมากน้อยแค่ไหนนั้น TNNONLINE ได้สัมภาษณ์กูรูตลาดทุนต่อมุมมองตลาดหุ้น เพื่อเป็นแนวทางในการลงทุนในอนาคต


เริ่มจากนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส ที่ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยช่วงท้ายปียังผันผวน โดยปัจจัยที่ติดตามในเดือนธ.ค.นี้ หลักๆ คือ การระบาด COVID ระลอกใหม่ และสายพันธุ์ใหม่ Omicron เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ซึ่งมีแนวโน้มแพร่ระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์ Delta และอาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดน้อยลง ซึ่งตลาดหุ้นไทยไม่ค่อยถูกกับข่าวการเจอโควิดสายพันธุ์ใหม่ โดยถ้าดูจากในอดีต ปัจจัยลักษณะนี้มีโอกาสกดดันให้ตลาดปรับฐานได้ลึกราว 5%

   

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯ ได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ในปี 2565 จาก 9.27 ล้านลัานบาท เป็น 9.40 ล้านล้านบาท หนุนให้กำไรต่อหุ้น(EPS) ในปี 65 ขยับขึ้นจาก 80 บาท/หุ้น เป็น 81.80 บาท/หุ้น เติบโต 11% จากปีก่อนหน้า และเมื่อคำนวณจากอัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น(P/E) เฉลี่ยที่ 22.73 เท่า จะได้เป้าหมายดัชนีที่ 1,860 จุด

   

สำหรับกลยุทธ์ในเดือน ธ.ค. จะเป็นช่วงติดตามสถานะการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมกับรอสัญญาณโควิดดีขึ้น แล้วกลับเข้ามาสะสมหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตในปี 65 โดดเด่นกว่าตลาด แนะนำ กลุ่ม Earning Growth + Laggard ADVANC, TIDLOR, THANI, CPALL และกลุ่มที่ธุรกิจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เช่น STEC, M, KBANK, DOHOME


สอดรับกับนายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ ที่มองว่า หุ้นไทยยังเผชิญความผันผวน  ซึ่งนักลงทุนรอดูผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟดในวันที่ 14-15 ธ.ค.นี้ คาดว่าเฟดจะเร่งลดคิวอีเร็วขึ้นจากเดิมตั้งไว้ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือนเป็น 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน และเร่งขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าจากเดิมที่กำหนดไว้เป็นปี 66


นอกจากนี้จะต้องติดตามสถานการณ์ของโควิดโอไมครอน แม้ว่าจะเห็นการกระจายตัว แต่ยังไม่เห็นการระบาดแทนที่เดลต้า หากมีการแพร่ระบาดรุนแรงและมีผู้เสียชีวิต อาจจะทำให้ดัชนีปรับตัวลงแตะระดับที่ 1,500-1520 จุด แต่เชื่อว่าปลายปีจะมีเม็ดเงินจาก SSF และ RMF มาพยุงตลาดประมาณ 20,000 ล้านบาท ก็จะทำให้ดัชนีไม่ได้ปรับตัวลงมากนัก โดยแนวรับเดือนธ.ค.อยู่ที่ 1,550 ถึง 1,560 จุด และแนวต้านที่ 1,600 ถึง 1,610

   


ส่วนการลงทุนส่งท้ายปี แนะนำหุ้นปลอดภัย นำโดย ADVANC ราคาเป้าหมาย 205 บาท หุ้นโรงไฟฟ้าเช่น EGCO ราคาเป้าหมาย  215 บาท หุ้น Domestic Play เช่น JWD ราคาเป้าหมาย 22 บาทและ TTB ราคาเป้าหมาย 1.51 บาท ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจ


ขณะที่นายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ระบุว่า  ประเด็นที่ต้องติดตามคือเรื่องโควิดโอไมครอนเป็นหลัก เนื่องจากตลาดรอดูว่า การแพร่ระบาดมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และวัคซีนที่มีอยู่มีประสิทธิภาพในการรักษาได้หรือไม่ ขณะที่การบริโภคยังชะลอตัวลง การท่องเที่ยวที่ซบเซาจากบางประเทศ


จากการประเมินเบื้องต้น ถ้าโอไมครอนระบาดในประเทศ แต่ไม่มีการบล็อกการเดินทาง ยังเข้าออกได้ตามปกติ หุ้นไทยอาจปรับฐานลง โดยมองแนวรับแรกที่ 1,580 จุด แต่กรณีเลวร้ายสุด คือการแพร่ระบาดรุนแรง แล้วปิดประเทศอีกรอบ อาจจะเห็นดัชนีลงไปทดสอบที่ 1,450 จุด แต่เชื่อว่าโควิดรอบนี้ยังไม่น่ากลัว เนื่องจากยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากสายพันธุ์ใหม่ ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเหลืออยู่ 3 แสนล้านบาท จากวงเงินกู้ทั้งหมด 5แสนล้านบาท หากเจอโอไมครอนระบาดจริง ก็ยังมีเม็ดเงินเข้ามาดูแลเศรษฐกิจ


ด้านกลยุทธ์การลงทุนและหุ้นเด่นในเดือนธ.ค.แนะนำ AOT, PTTGC, SCB และ ADVANC ขณะที่มองดัชนีหุ้นไทยปีหน้าที่ 1,680 จุด และมีกำไรต่อหุ้น ที่ 95.50 บาท โดยในช่วงเดือนม.ค. 65 หุ้นอาจยังไม่ปรับขึ้นมากนัก เนื่องจากมีกอง LTF ที่ครบกำหนดระยะเวลา 7 ปี รอขายออกประมาณ 20,000 ถึง 25000 ล้านบาท แต่ก็เป็นโอกาสที่รายย่อยจะกลับมาซื้อหากราคาย่อตัว


ปิดท้ายที่นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย) ซึ่งเห็นว่า  ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวได้ ถ้าโควิดโอไมครอนระบาดไม่รุนแรง ซึ่งในส่วนของไทยได้ก็มีการตั้งรับไม่ให้ 8 ประเทศจากทวีปแอฟริกาเดินทางเข้ามาในประเทศ ขณะที่การฉีดวัคซีนก็ครอบคลุม 60% ของประชากรแล้ว ดังนั้นเชื่อว่า หากไม่มีการล็อกดาวน์ เศรษฐกิจไทยก็ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้  ยกเว้นว่ามีการระบาดหนักทั่วโลก อาจทำให้หุ้นทั่วโลกปรับตัวลงและหุ้นไทยร่วงตาม


ทั้งนี้หากส่องสถิติการซื้อขายหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า นักลงทุนสถาบันในประเทศ ขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้ว 66,000 ล้านบาท ต่างชาติ ขายสุทธิ 75,008 ล้านบาท ซึ่งถ้าดูจากนักลงทุนสถาบัน ปกติในแต่ละรอบจะไม่เคยขายเกิน 30,000 ล้านบาท แต่ในรอบนี้ขายออกมามาก และในช่วง 2 วันแรกของเดือนธ.ค.ก็ขายไปแล้ว 3,000 ล้านบาท สะท้อนว่าหุ้นไทยปรับลงลึกแล้ว และรอการฟื้นตัวกลับในระยะต่อไป

   


โดยในปีหน้า มอง EPS ที่ 88.80 บาทต่อหุ้น ดัชนีอยู่ที่ 1,850 จุด จากสิ้นปีนี้ที่คาดว่าดัชนีจะอยู่ที่ 1,650 จุด ส่วนหุ้นเด่นปิดท้ายปีนี้ นำโดย  CPN ราคาเป้าหมาย 64 บาท, KCE ราคาเป้าหมาย 27 บาท, PTTEP ราคาเป้าหมาย 145 บาท และตัวสุดท้าย SPALI ราคาเป้าหมาย 26.70 บาท ขณะที่หุ้นที่น่าซื้อสะสมหากราคาย่อตัว เช่น RAM ราคาเป้าหมาย 48.8 บาท  STEC ราคาเป้าหมาย 19 บาท  CPALL ราคาเป้าหมาย 84 บาท  KCE ราคาเป้าหมาย 127 บาท  TIDLOR ราคาเป้าหมาย 47 บาท KBANK ราคาเป้าหมาย 170 บาท CRC ราคาเป้าหมาย 42 บาท SPALI ราคาเป้าหมาย 26.75 บาท  PTTEP ราคาเป้าหมาย 145 บาท


จากความเห็นของกูรูตลาดทุน เท่ากับว่าทิศทางตลาดหุ้นไทยในเดือนสุดท้ายของปีนี้ จะยืนอยู่บนความเสี่ยงจากสถานการณ์ของโอไมครอน และทิศทางการดำเนินนโยบายของเฟด ว่าจะมีการเพิ่มอัตราเร่งในการคุมเข้มหรือไม่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูงและยากต่อการเข้าเก็งกำไร 


แต่หากนักลงทุนพร้อมที่จะมองยาวข้ามไปถึงปีหน้า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียน ก็น่าจะเป็นหลักพิงที่ดีให้กับผู้ที่ต้องการถือลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่อิงไปกับปัจจัยพื้นฐานที่มีโอกาสปรับตัวดีขึ้นได้เช่นกัน...    





ที่มา  : นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม, นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา,นายสุนทร ทองทิพย์,นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล 

ภาพประกอบ   : พิกซาเบย์,TNNONLINE ,บล.เอเซีย พลัส, บล.ทิสโก้ , บล.กสิกรไทย ,บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย) 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง