รีเซต

ชาวบ้าน สุรินทร์ ทำพิธีเขมรโบราณ ปัดเป่าโรคร้าย ไล่โควิด19

ชาวบ้าน สุรินทร์ ทำพิธีเขมรโบราณ ปัดเป่าโรคร้าย ไล่โควิด19
ข่าวสด
15 มกราคม 2564 ( 12:26 )
60
ชาวบ้าน สุรินทร์ ทำพิธีเขมรโบราณ ปัดเป่าโรคร้าย ไล่โควิด19

เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา ชาวบ้านภูมิโพธิ์ ม.9 ต.ดม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ร่วมกันทำพิธีเขมรโบราณ ปัดเป่าโรคร้าย ไล่โควิด19 ตามความเชื่อของคนในชุมชน

 

วันที่ 15 ม.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา ที่กลางหมู่บ้านภูมิโพธิ์ ม.9 ต.ดม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ชาวบ้านกว่า 50 คน มาร่วมทำพิธีกรรมของชาวเขมรพื้นบ้านสุรินทร์ ที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งเรียกพิธีกรรมนี้ว่า ปะโจลมะม๊ว หรือรำผีฟ้า ตามพิธีกรรมความเชื่อของชุมชน ที่เชื่อว่าการเล่นมะม๊วดเป็นการรักษาอาการเจ็บป่วยของคนด้วยเสียงเพลง ประกอบกับช่วงนี้มีการระบาดของโควิด19 ในระลอกใหม่ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันทำพิธีปัดเป่าโรคร้าย ไล่โควิด

 

https://www.youtube.com/watch?v=jl1B2030eCg&feature=youtu.be

 

โดยมีแม่หมอหรือแม่มด จะเข้าทรงเพื่ออัญเชิญเทพธิดาสิ่งศักดิ์เพื่อเสี่ยงทายดูอาการเจ็บป่วยเหล่านั้น ร่วมทั้งการเล่นมะม๊วดยังสามารถขจัดปัดเป่าทุกข์โศกโรคร้ายและเพื่ออัญเชิญเจ้าที่เจ้าทางในหมู่บ้าน ให้ปกปักรักษาให้ลูกหลานในชุมชนแคล้วคลาดปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก่อนที่จะมีการประกอบพิธีนั้นในช่วงกลางวันชาวบ้านได้พากันเตรียมสถานที่โดยการทำตะซาลหรือโรงเรือนสำหรับประกอบพิธี

 

สำหรับการทำตะซาลนั้นได้มีการเอาเสาไม้ที่มีง่ามจำนวน 9 ต้น แล้วเอาไม้พาดเป็นขื่อบนง่าม หลังจากนั้นจะใช้ทางมะพร้าวสดผ่าเป็น2 ซีกมุงหลังคา โดยบางชุมชนนิยมกางเต็นท์ เป็นโรงประกอบพิธีเพราะสะดวกกว่าการทำตะซาลอย่างมาก มีการจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้บูชา วางไว้บนโต๊ะเป็นแถวยาวด้านหัวโรง ซึ่งจะกำหนดทิศด้านใดด้านหนึ่งเป็นหัวโรง ขึ้นอยู่กับแม่หมอนั้นๆเป็นคนกำหนด

 

 

โดยร่างทรงแต่ละคนจะมีเครื่องเซ่นไหว้ที่จัดเรียงไว้ในถาดของใครของมันเครื่องเซ่นไหว้หลักๆจะประกอบด้วยผลไม้ ขนม ข้าวตอก ก่อนเริ่มพิธีนักดนตรีจะโหมโรงด้วยเพลงดนตรีเป็นจังหวะทำนองดนตรีพื้นบ้านสุรินทร์ เครื่องดนตรีจะมี 4 ชิ้นประกอบด้วย แคน กลองโทน ฉิ่ง ฉาบ ได้บรรเลงเพลงจังหวะท่วงทำนองที่ฟังแล้วเพราะจับใจ โดยมีการร้องรำเป็นจังหวะสลับกับการรำของแม่มดแต่ละคน บางห่วงจังหวะการละเล่นได้มีแม่หมอ หรือแม่มด ประกอบพิธีเข้าทรงเพื่อดูทางในสลับกันไป

แต่ละคนจะมีขันคนละ 1 ใบ ข้างในจะใส่ข้าวสารไว้เกือบเต็มขันแล้วจุดธูปปักตรงขอบขัน พอดนตรีเริ่มบรรเลงเพลงแม่มดก็บูชาครูไหว้ครู เสร็จก็นั่งทางในสักครู่ก่อนที่จะอัญเชิญร่างทรงโดยการหมุนเวียนขันที่มีเทียนจุดอยู่วนๆรอบจากช้าๆไปจนถึงเร็ว จะกี่รอบนั้นขึ้นอยู่ว่าร่างทรงจะมาประทับตอนนั้น จะสังเกตุได้ตอนที่แม่มดกระแทกขันกับพื้นจนเทียนดับและข้าวสารกระเด็นกระดอนออกจากขันนั่นเอง

 

 

นางเพียบ ซ่อนจันทร์ อายุ 70 ปี แม่หมอหรือแม่มด ชาวบ้านตาพราม ม.8 ต.เทพรักษา อ.สังขะ จ.สุรินทร์ เล่าว่า ตามที่ได้มีโรคระบาดอยู่ในทุกวันนี้ การเล่นมะม๊วดเพื่อขจัดปัดเป่าโรคร้ายก็เป็นอีกความเชื่อหนึ่งของชุมชนเช่นกัน โดยสามารถเล่นได้ทุกโอกาส สำหรับพิธีกรรมปะโจลมะม๊ว เป็นภาษาพื้นบ้านสุรินทร์ เป็นคำเฉพาะ ซึ่งมะม๊วดหรือแม่มด หมายถึง การเข้าทรง หรือที่เรารู้จกกันดีว่า “รำผีฟ้า” มีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏที่แน่ชัด ทราบแต่เพียงว่าพิธีกรรมนี้มีมานานแล้ว ชาวเขมรสุรินทร์รับการถ่ายทอดต่อเนื่องกันมา จากรุ่นสู่รุ่น และปฏิบัติมาโดยตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้ โดยจัดพิธีนี้ขึ้นเนื่องในโอกาสต่างๆ

 

 

แม่หมอเล่าต่อว่า การเล่นมะม๊วด เป็นการเล่นเฉพาะกาลตามความเชื่อของชุมชนนั้นๆ เพื่อแก้บนตามที่ได้บนบานไว้ และเพื่อรักษาผู้ป่วย ซึ่งเป็นการอัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมาให้ความช่วยเหลือ ขอคำแนะนำผ่านล่าม หรือคนทรงเพื่อหาสาเหตุของการเจ็บป่วย และหาทางรักษาตามความเชื่อชาวไทยเชื้อสายสุรินทร์ มีความเชื่อในเรื่องผีปู่ตา

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมการเล่นมะม๊วด ภูมิปัญญารักษาโรคด้วยเพลงดนตรี ที่สืบสานกันมานาน ตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งมีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของชาวไทยเชื้อสายสุรินทร์ เป็นพิธีกรรมที่ช่วยคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับธรรมชาติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง