เช็กก่อน! มนุษย์เงินเดือน รายได้เท่าไหร่ไม่ต้องเสีย ภาษี ??
กรมสรรพกรได้แจ้งให้ผู้มีรายได้ เริ่มยื่นแบบ ภาษี เงินได้ส่วนบุคคล ได้แล้ว หากมีความพร้อม หลายคนมีการวางแผนภาษีมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่หลายคนที่ยังไม่เคยยื่นภาษี โดยเฉพาะน้องๆนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่และเพิ่งทำงานมีรายได้ในปีแรก น่าจะยังสงสัยว่า ถ้ามีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์หรือเงินเดือนที่ได้ถูกยกเว้นภาษีอยู่แล้วจะต้องยื่นภาษีอยู๋อีกหรือไม่
ซึ่งตามกฎหมายแล้ว กรมสรรพากรกำหนดให้ผู้ที่มีเงินได้ แม้จะไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีก็ต้องยื่นแบบแสดงรายได้อยู่ดี โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ หรือระดับรายได้ ที่ต้องยื่นแบบภาษีไว้ 2 กรณี ได้แก่
คนโสด
- ถ้าหนุ่มๆสาวๆได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง รวมทั้งเบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ตามมาตรา 40 (1) เป็นเงินได้เพียงประเภทเดียว เกิน 120,000 บาทต่อปี (เฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท) แบบนี้ต้องยื่นแบบ ภาษี แต่หากมีรายได้รวมกันไม่ถึง 120,000 บาทต่อปี กรณีนี้จะไม่ยื่นภาษีก็ไม่ถือว่าผิด
- ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง ตามมาตรา 40 (1) และยังมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย เช่น เงินจากการขายของออนไลน์, เงินปันผลกองทุนรวม, การให้เช่าทรัพย์สิน ฯลฯ เกิน 60,000 บาท กรณีนี้ก็ต้องยื่นแบบภาษีตามกำหนด
- ไม่มีค่าจ้างหรือเงินเดือน แต่มีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่น เช่น เงินจากการขายของออนไลน์, เงินปันผลกองทุนรวม, การให้เช่าทรัพย์สิน ฯลฯ เกิน 60,000 บาท กรณีนี้ ก็ต้องยื่นแบบภาษีเช่นกัน
ภาพประกอบ : AFP ,กรมสรรพากร
จดทะเบียนสมรสแล้ว
- กรณีได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง รวมทั้งเบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ตามมาตรา 40 (1) เป็นเงินได้เพียงประเภทเดียว เกิน 220,000 บาทต่อปี (เฉลี่ยเดือนละ 18,333 บาท) จะต้องยื่นแบบ ภาษี
- ถ้าหากได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง ตามมาตรา 40 (1) และยังมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย เช่น เงินจากการขายของออนไลน์, เงินปันผลกองทุนรวม, การให้เช่าทรัพย์สิน ฯลฯ เกิน 120,000 บาท กรณีนี้ก็ต้องยื่นภาษี แม้ว่ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีก็ตาม
- หากไม่มีค่าจ้างหรือเงินเดือน แต่มีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่น เช่น เงินจากการขายของออนไลน์, เงินปันผลกองทุนรวม, การให้เช่าทรัพย์สิน ฯลฯ เกิน 120,000 บาท กรณีนี้ก็ต้องยื่นแบบภาษี
หากจะตอบคำถามข้างต้น ก็คือ ต่อให้เรามีเงินเดือนไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี หรือแม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี แต่หากมีรายได้อื่นๆที่นำมาลดหย่อนได้ แต่ก็จะต้องยื่นแบบแสดงภาษีทุกคนอยู่ดี
ยื่นภาษีแบบไหน ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ?
เมื่อต้องกรอกแบบฟอร์มยื่น ภาษี แต่ยังงงว่า จะต้องยื่นแบบไหนระหว่าง ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ซึ่งหากจะให้จำง่ายๆเลยก็คือ คนมีเงินเดือน โบนัส ค่าครองชีพ หรือตามกฎหมายจะจัดไว้ในรายได้ตามมาตรา 40 (1) ให้เลือกยื่นแบบ ภ.ง.ด.91
ขณะที่ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือมีรายได้อื่น ๆ จากการเทรดหุ้น เงินปันผลจากกองทุนรวม เงินปันผลหุ้น ต่างๆเป็นต้น นั้น ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90
เลี่ยงภาษีหรือยื่นภาษีหลังระยะเวลาที่เปิดยื่น จะเป็นอย่างไร?
การไม่ยื่นแบบแสดงรายได้ หรือเรียกง่ายๆคือ เลี่ยงภาษีนั้น ตามกฎหมายจะมีความผิดตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่หากลืมยื่นหรือยื่นภาษีล่าช้า ก็สามารถขอลดค่าปรับได้ แม้จะเกิดกรณรีเี่ยงภาษีกันอยู่บ่อยๆ แต่หากกรมสรรพากรตรวจสอบพบว่าไม่ยื่นภาษี ก็อาจส่งหนังสือมาแจ้งให้ไปเสียค่าปรับได้ในภายหลัง หากใครที่เลี่ยงภาษีมานานก็อาจจะโดนค่าปรับยาวเป็นหางว่าวเลยก็ได้
ภาพประกอบ : AFP ,กรมสรรพากร
ยื่นออนไลน์ ไม่ต้องไปสรรพากรก็ได้
ตอนนี้การยื่นภาษีสะดวกขึ้น สามารถยื่นแบบภาษีออนไลน์ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ยื่นได้ ทั้งระบบอินเทอร์เน็ตหรือแอปพลิเคชัน ขั้นตอนต่างๆก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร ทำได้ด้วยตัวเอง แถมยังไม่ต้องไปเสี่ยงสัมผัสกับเชื้อโควิด-19 ที่ปัจจุบันก็ยังน่าเป็นห่วงอยู่เพราะ ก็มีสายพันธุ์ใหม่ๆระบาดมาเรื่อยๆ
สำหรับปีภาษี 2564 กรมสรรพากรเปิดให้ยื่นแบบฯ กระดาษได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 และยื่นภาษีออนไลน์ไปถึงวันที่ 8 เมษายน 2565
ยื่นแบบภาษี 2564 คลิกที่นี่ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/
อ้างอิงข้อมูลจาก : กรมสรรพากร ,ITAX
ภาพประกอบ : AFP ,กรมสรรพากร