รีเซต

SEAC แนะเร่งวางกลยุทธ์ธุรกิจ-คน-ขีดความสามารถองค์กร เพื่อแข่งขันบนเวทีโลก

SEAC แนะเร่งวางกลยุทธ์ธุรกิจ-คน-ขีดความสามารถองค์กร เพื่อแข่งขันบนเวทีโลก
ข่าวสด
31 สิงหาคม 2564 ( 18:53 )
45

นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นศูนย์ฯ ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพผู้นำและบุคลากรไทยทุกระดับ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรไทย ด้วยหลักสูตรคุณภาพจากสถาบันชื่อดังระดับโลก เปิดเผยว่า SEAC ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ Global LIVE Conference ภายใต้หัวข้อ “From Crisis to Opportunity: Igniting Your Business, People, and Culture” เปิดเทรนด์โลกธุรกิจ ตีแผ่ข้อมูลเชิงลึกระดับเวิล์ดคลาส ซึ่งมี 3 องค์กรระดับโลกร่วมสัมมนา เพื่อให้องค์กรทั่วโลกได้เข้าใจมิติของเศรษฐกิจโลกที่กำลังหมุนบนแกนใหม่ และสามารถนำมุมมองต่างๆ ของตัวอย่างธุรกิจที่ “รุ่ง” และ “รอด” มาปรับใช้ให้เข้ากับกลยุทธ์และรูปแบบธุรกิจของตัวเอง พร้อมทั้งสร้างวิถีการทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพ “คน” เพื่อเร่งพัฒนาให้เท่าทัน “ความท้าทาย” และสามารถรับมือปัญหาได้ในทุกสถานการณ์อย่างตรงจุดและรวดเร็ว รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถขององค์กร และคนทุกระดับเพื่อแข่งขันบนเวทีโลก

 

อย่างไรก็ดี จากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง จนทำให้เศรษฐกิจประเทศทั่วโลกหดตัว และอัตราการจ้างงานแบบเต็มเวลาลดลงเป็นจำนวนมาก แต่ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจโลก (จีดีพี) มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น 6% โดยในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ที่ยังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเฉลี่ยเพียง 4.3% ทำให้เห็นภาพการล้มหายของกิจการ และตัวเลขการว่าจ้างงานแบบเต็มเวลายังคงหดหายไปราว 255 ล้านคนทั่วโลก ตามรายงานของ UNTAD แต่อย่างไรก็ดีการที่เศรษฐกิจโลกกำลังดีดตัวขึ้น โดยเฉพาะในบางประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สะท้อนว่าธุรกิจต่างๆ ในหลายประเทศ กำลังส่งสัญญาณไปในทิศทางบวก ดังนั้นองค์กรจึงจำเป็นต้องเร่งวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ เพื่อเสริมศักยภาพคนตลอดจนวัฒนธรรมองค์กรที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนองค์กรได้

 

โดย น.ส.เมลานีย์ วีเวอร์ บาร์เน็ต Chief Executive Education Officer, the University of Michigan's Ross School of Business กล่าวว่า จากการศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลธุรกิจในช่วงวิกฤตโควิด-19 ขององค์กรชั้นนำระดับโลก พร้อมตกผลึกมุมมองภายใต้แนวคิด “OUTSIDE-IN THINKING” ที่เปรียบเสมือนการคิดนอกกรอบและกระตุ้นความคิดและผลลัพธ์เชิงสร้างสรรค์ใหม่

 

ขณะที่ น.ส.โดบี้ ฮิวสตัน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท The Employee Work Passion Company และ Former Director of Marketing Research, The Ken Blanchard Companies กล่าวว่า จากการทำวิจัยอย่างเจาะลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ที่ส่งผลบวกต่อการทำงานที่ลื่นไหล ทำให้ทราบถึงความจริงที่ว่า ต้นตอของปัญหาที่หลากหลายองค์กรส่วนใหญ่กำลังเผชิญคือ การมุ่งใช้เกณฑ์การวัดความมีส่วนร่วมของพนักงานต่อองค์กร ที่ทำให้องค์กรขาดพลังความทุ่มเท แรงใจและความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน อันเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและผลักดันองค์กรให้ไปต่อได้ เพราะแท้จริงแล้ว องค์กรมองหาทรัพยากรคนที่มีความรู้สึกรักและหลงใหลในงานที่ทำ มีความมุ่งมั่นกระตือรือร้นให้งานนั้นประสบความสำเร็จ ความมั่นใจที่จะอยู่กับองค์กร พร้อมรับฟังและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รวมไปถึงความอยากมีส่วนร่วม โดยไม่ได้เกิดจากการบังคับหรือเพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ

 

ขณะที่นายไมค์ เรเนอร์ Director of Client Solutions, The Arbinger Institute กล่าวว่าอุปสรรคสำคัญที่สุด ในการเปลี่ยนแปลง คือ การจำกัดกรอบความคิด (มายด์เซ็ต) หรือ วิธีการมองโลกและสภาพแวดล้อมรอบข้างโดยมีดัชนีตัวเลขบ่งชี้ว่า องค์กรที่ตั้งต้นการปรับเปลี่ยนกรอบความคิดหรือมายด์เซ็ตก่อน มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จกว่าผู้ที่ไม่ทำถึง 4 เท่า เพราะมายด์เซ็ตที่ถูกต้องและเหมาะสมคือฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนทุกพฤติกรรมของมนุษย์ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ การมองที่เป้าหมายของตนเองเป็นใหญ่ และเห็นคนอื่นเป็นพาหนะสู่เป้าหมายของตนเอง เป็นอุปสรรคและสิ่งกีดกั้นการมีความสุขของตนเอง ตรงกันข้ามกับการมองคนรอบข้างเป็นคนและให้ความสำคัญกับผู้อื่นไม่น้อยไปกว่าความสำคัญต่อตัวเอง

 

“เทคโนโลยีกำลังถูกพัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แต่วิธีคิดหรือมายด์เซ็ต คือสิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ยังทำแทนหรือเลียนแบบมนุษย์ไม่ได้ การมีวิธีคิดที่ถูกต้องนอกจากจะช่วยให้องค์กรสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงแล้ว ยังเพิ่มคุณค่าให้กับตัวพนักงานให้เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานอีกด้วย” นายไมค์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง