รีเซต

โควิด-19 : อดีตแคนดิเดตนายกฯ ไทยทำอะไรในวิกฤตไวรัสโคโรนา ขณะที่ ธนาธรเตรียมส่งอุปกรณ์การแพทย์ให้ 12 รพ.

โควิด-19 : อดีตแคนดิเดตนายกฯ ไทยทำอะไรในวิกฤตไวรัสโคโรนา ขณะที่ ธนาธรเตรียมส่งอุปกรณ์การแพทย์ให้ 12 รพ.
บีบีซี ไทย
21 เมษายน 2563 ( 12:40 )
142

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ งดวิจารณ์กรณีนายกรัฐมนตรีร่อนจดหมายเชิญ 20 มหาเศรษฐีไทยมาร่วมเป็น "ทีมประเทศไทย" แต่พาสื่อทัวร์โรงงานผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่ซุ่มดำเนินการมาเกือบเดือน

 

คณะก้าวหน้าภายใต้การนำของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เตรียมส่งมอบ 2 สิ่งประดิษฐ์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ผู้เป็น "ด่านหน้า" ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในช่วงสุดสัปดาห์นี้

 

ห้องตรวจโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน (Modula ARI Clinic) ซึ่งมีห้องตรวจตั้งแต่ 3-7 ห้องตามแต่ความต้องการของโรงพยาบาล โดยแยกระหว่างฝั่งของแพทย์ให้อยู่ในห้องปฏิบัติการแรงดันบวก และผู้ต้องสงสัยติดเชื้อโควิด/ผู้ป่วยอยู่ในห้องแรงดันลบ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัส ต้นทุนราว 6 แสนบาท/ชุด

 

เตียงขนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ (Isolation Chamber) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในระหว่างเคลื่อนย้ายจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ต้นทุนราว 4 หมื่นบาท/ชุด คือ 2 สิ่งประดิษฐ์ที่คณะก้าวหน้า ร่วมกับบริษัท จรูญรัตน์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมแพทย์ผลิตขึ้น โดยใช้เวลาไม่ถึงเดือนในการศึกษานวัตกรรมที่คณะแพทย์ศาสตร์ วชิรพยาบาล ม.นวมินทราธิราช คิดค้นขึ้นและเผยแพร่ทางเพจ "Open Source Covid Thailand" ให้ผู้สนใจนำไปผลิตต่อ ก่อนเริ่มเดินเครื่องผลิตในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา

 

หลังจากนี้ นายธนาธรกับพวกจะทยอยส่งมอบ Modula ARI Clinic จำนวณ 11 ชุด และ Isolation Chamber จำนวณ 30 ชิ้น ให้แก่โรงพยาบาล 12 แห่ง โดยเริ่มล็อตแรกวันที่ 25-26 เม.ย. ให้แก่ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี และ รพ.ยะลา จ.ยะลา

 

นายธนาธรชี้แจงสาเหตุที่เลือกช่วยเหลือสังคมด้วยการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้ง 2 ชนิดนี้ว่าเป็นเพราะต้องการสร้างขวัญกำลังใจและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขในในการปฏิบัติหน้าที่ "ไม่เช่นนั้นเขาก็จะไม่มีความมั่นคงในการทำงาน จะคิดกังวลตลอดว่าอุปกรณ์ดีพอไหม กลับบ้านไปจะเอาไวรัสไปติดคนที่บ้านไหม"

 

เขาย้ำด้วยว่า ในห้วงเวลาวิกฤต ถือเป็นสปิริตของสังคมไทยที่จะร่วมมือร่วมแรงกันช่วยเหลือกันเท่าที่ทำได้

 

ส่วนจะได้รับอานิสงส์ในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี ตามมติคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หรือไม่นั้น นายนพพล ชัยจรูญรัตน์ กรรมการผู้จัดการแห่งอาณาจักรจรูญรัตน์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า "ไม่ได้คิดถึงตรงนั้นเลย เราไม่ได้คิดถึงการแสวงหากำไร แต่คิดถึงการช่วยเหลือสังคม"

 

บอร์ดบีโอไอออกออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยธุรกิจที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย. เริ่มผลิตและมีรายได้ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 และต้องจำหน่ายและหรือบริจาคภายในประเทศอย่างน้อย 50% ของปริมาณที่ผลิตได้ในปี 2563-2564

 

เผยแม่สมพรแจก 2 พันไม่ได้ปรึกษา

นายธนาธรเปิดตัวคณะก้าวหน้าเมื่อ 21 มี.ค. ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยเข้าขั้นวิกฤตแล้ว ในวันนั้นพวกเขาตั้งวงวิจารณ์การบริหารจัดการปัญหาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยกล่าวหาว่านายกฯ ว่า "ล้มละลายทางการเมือง ขาดความศรัทธาเชื่อมั่นจากประชาชนไปแล้ว" พร้อมเสนอโรดแมปในการแก้วิกฤตเศรษฐกิจชาติ โดยเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหาร

 

แต่วันนี้ เขาปฏิเสธจะให้ความเห็นกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ทำหนังสือเชิญมหาเศรษฐี 20 อันดับแรกของไทยมาร่วมเป็น "ทีมประเทศไทย" ช่วยแก้ไขวิกฤตโควิด-19 และบอกด้วยว่าไม่ทราบว่านางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา ซึ่งได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาเศรษฐีเบอร์ 28 โดยนิตยสารฟอร์บส ไทยแลนด์ จะได้รับจดหมายจากนายกฯ หรือไม่

 

https://www.facebook.com/thebetterthailand.org/videos/243577733365232/

ส่วนกรณีที่นางสมพรไปแจกเงิน 2 พันบาท และข้าวสารอาหารแห้งเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสมรณะที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีทั้งผู้ชื่นชมและผู้วิจารณ์เรื่องการไม่ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมนั้น นายธนาธรงดขยายความประเด็นนี้เช่นกัน โดยกล่าวเพียงว่า "เป็นเรื่องของคุณสมพร ไม่ได้มาปรึกษาอะไรผม แกก็ทำของแกไป"

 

สำรวจอดีตแคนดิเดตนายกฯ ทำอะไรบ้างในวิกฤตโควิด-19

ย้อนกลับไปในการเลือกตั้ง 2562 นายธนาธรคือผู้ท้าชิงเก้าอี้นายกฯ ในนามพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) โดยมีผู้เสนอตัวรวมทั้งสิ้น 68 ราย จาก 44 พรรคการเมือง

1 ปีผ่านไป บรรดาอดีตแคนดิเดตนายกฯ ของไทย ทำอะไรบ้างในวิกฤตไวรัสมรณะนับจากประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อ 26 มี.ค. เป็นต้นมา

 

บีบีซีไทยตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลข่าวสารเฉพาะที่ปรากฏต่อสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ของเจ้าตัวและพรรคต้นสังกัด พบว่า นักการเมืองไทยได้ช่วยเหลือสังคมตั้งแต่ระดับเล็กน้อย อย่างการเจลแจกแอลกอฮอล์ ไปจนถึงการทำโครงการขนาดใหญ่อย่างการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ บางคนได้แต่คิด แต่ไม่มีโอกาสลงมือทำ ขณะที่บางคนที่อยู่ในบทบาทต้องทำ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายกรณี

 

พรรคพลังประชารัฐ - พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

  • เป็นผู้อำนวยการศูนย์การบริหารสถานการณ์โควิด-19 คอยรายงานความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาให้ประชาชนรับทราบทุกเย็นวันศุกร์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยไม่ปิดท้ายด้วยวรรคทอง "ประเทศไทยต้องชนะ" แทบทุกครั้ง
  • ชี้แจงมติสำคัญที่ได้จากการประชุม ครม. ทุกวันอังคาร ในจำนวนนี้คือการตรา พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทว่าบ่อยครั้งที่คำพูดของผู้นำได้นำไปสู่ความสับสน เช่น การระบุเมื่อวันที่ 15 เม.ย. ว่าการแจกเงินเยียวยาให้ประชาชน 5 พันบาท "จ่ายได้แค่เดือนเดียวก่อน" จนถูกวิจารณ์ยับเนื่องจากประชาชนนับล้านรอคอยเงินก้อนดังกล่าว จนเจ้าตัวต้องเอ่ยคำขอโทษในวันรุ่งขึ้นและยืนยันจ่ายครบ 3 เดือนแน่
  • เตรียมส่งหนังสือถึงมหาเศรษฐีไทย 20 อันดับแรก เพื่อขอให้มาร่วมเป็น "ทีมประเทศไทย" ด้วยการแบ่งปันความสามารถ ความฉลาดหลักแหลม รวมทั้งมุมมองอันมีวิสัยทัศน์มาช่วยกันจัดการวิกฤตโควิด-19
  • นอกเวลาราชการ เดินทางไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามจุดตรวจสกัดต่าง ๆ ในพื้นที่ กทม. อาทิ ย่านปทุมวัน ทองหล่อ สุทธิสาร ห้วยขวาง อุดมสุข, ตรวจเยี่ยมสถานที่กักกันของรัฐ (State Quarantine) ที่ รร. Elegant Airport และ รร.ภัทรา รวมถึงไปให้กำลังใจคณะแพทย์ที่ รพ.ศิริราช พร้อมตรวจดูการใช้งานปัญญาประดิษฐ์เพื่อวิเคราะห์เชื้อไวรัสโควิด-19

 

พรรคภูมิใจไทย - นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรค

  • ใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะ รมว.สาธารณสุข ผลักดันวาระสำคัญ ๆ อาทิ บรรจุพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 45,684 ตำแหน่ง และลงนามออกประกาศสิทธิบัตรทองใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ฟรี
  • ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขตาม รพ.ต่าง ๆ พร้อมประสานงานกับภาคเอกชนไทยและต่างชาติในการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ถึงกระนั้นได้เกิดประเด็นร้อนขึ้นในช่วงปลาย มี.ค. จากคำพูดที่ว่า "ต้องไปหวดกัน" หลังพบแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติหน้าที่ จนถูกชาวเน็ตถล่ม-กดดัน-ไล่ให้ลาออก ร้อนถึงเจ้าตัวต้องอัดคลิปวิดีโอยืนยันว่าไม่มีเจตนาตำหนิแพทย์ที่ติดเชื้อโควิด-19 จากการทำงาน และให้การสนับสนุนคุณหมอและพยาบาลด้วยดีมาโดยตลอด หลังจากนั้นเขาก็ซุ่มทำงานแบบ "เว้นระยะห่าง" กับสื่อมวลชน-หลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ตรง ๆ จนจบดรามาไปได้

 

พรรคเพื่อไทย - คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค

  • ลงพื้นที่ กทม. อาทิ เขตดอนเมือง เขตหลักสี่ เปิดจุดบริการอาหารและน้ำดื่ม 1,500 ชุด/วัน แก่ประชาชน รวมถึงแจกจ่ายหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ
  • รับฟังปัญหาประชาชนจาก ส.ส. ผ่านการประชุมด้วยระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์
  • ออกแถลงการณ์ในนามพรรค 4 ข้อ เรียกร้องรัฐบาล "ตัดก่อนกู้" หลัง ครม. มีมติให้ตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท พร้อมให้รัฐบาลเร่งจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

 

พรรคประชาชาติ - นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค

  • รับฟังปัญหาประชาชนจาก ส.ส. ผ่านการประชุมด้วยระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์
  • เสนอความเห็น 7 ข้อในนามพรรค ในจำนวนนี้คือให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทแก่ประชาชนทุกกลุ่ม และขอบคุณรัฐบาลที่มีมาตรการดูแลประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

พรรคเสรีรวมไทย - พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค

  • เปิดโรงทานที่วัดเจ้าอาม เขตบางขุนนนท์ กทม. เลี้ยงอาหารผู้มีรายได้น้อยช่วงโควิด-19 พร้อมรับฟังความเดือดร้อนของประชาชน
  • ติดตามปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐกักตุนและลักลอบนำหน้ากากอนามัยส่งไปขายยังต่างประเทศ โดยอาศัยกลไกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ สภาผู้แทนราษฎร

 

พรรคชาติพัฒนา - นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรค

  • เปิด "ศูนย์คนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน ร่วมใจฝ่าวิกฤติโควิด-19" ภายในสำนักงานพรรคชาติพัฒนา ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา โดยปรับพื้นที่เป็นโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยผ้า 1,000 ชิ้น/วัน และเจลล้างมือหรือสเปรย์ฆ่าเชื้อ 1,000 ชุด/วัน แจกประชาชนโคราชใน 32 อำเภอ

 

พรรคไทยศรีวิไลย์ - นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรค

  • ลงนามในเอกสารมอบอำนาจให้เลขาธิการสภาหักเงินเดือน+เงินประจำตำแหน่ง ส.ส. 113,560 บาท/เดือน เพื่อนำเข้า "กองทุนสมทบเพื่อป้องกันโควิด-19" ตั้งแต่ 30 เม.ย. 2663 จนกว่าจะครบวาระหรือยุบสภา
  • มอบแอลกอฮอล์ให้โฆษกพรรคก้าวไกลไปพ่นฆ่าเชื้อให้ประชาชน และเยี่ยมจุดตรวจคัดกรองเขตหนองแขม กทม. มอบเจลแอลกอฮอล์ ขนม และผลไม้ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

 

พรรคประชาธิปัตย์ - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และ ส.ส.

  • ร่วมบริจาคเลือดที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย หลังธนาคารเลือดขาดแคลนโลหิต เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
  • เสนอข้อคิดเกี่ยวกับวิกฤตโควิด-19 ผ่านแฟนเพจ รวม 9 ข้อ ในจำนวนนี้คือแนะว่าอย่ามองการบริหารสถานการณ์เป็นทางเลือกระหว่างการแก้ปัญหาเศรษฐกิจกับสาธารณสุข แต่ให้ทำงานควบคู่กัน และให้จัดหาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 เพื่อสุ่มตรวจประชากรที่ไม่มีอาการได้อย่างกว้างขวาง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง