ใบขนเพิ่มอื้อ! อย.คุมเข้มสกัดผัก-ผลไม้ปนเปื้อนมากับขบวนรถไฟจีน-ลาว
ข่าววันนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 17 ธ.ค.2564 ที่ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 อ.เมืองหนองคาย นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมเจ้าหน้าที่คณะกรรมการอาหารและยา เข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของด่านอาหารและยาหนองคาย พร้อมหารือร่วมกับ พ.ต.อ.ณรัชต์พล เลิศรัชตะปภัสร์ นายด่านศุลกากรหนองคาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงมาตรการการบริหารจัดการและบูรณาการหน่วยงานต่างๆที่ประจำด่านพรมแดน
นพ.วิทิต กล่าวว่า จากที่ปรากฏตามข่าวว่ามีรถไฟระหว่างประเทศจีน-ลาว เปิดให้บริการและมีสินค้าโดยเฉพาะผักผลไม้ผ่านมาช่องทางนี้มากขึ้น โดยในวันที่ 16-17 ธ.ค.64 ทีม อย.ได้ลงมาดูพื้นที่หน้างานว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีปัญหาอุปสรรคใดๆ หรือไม่ในการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรประจำด่านอาหารและยาหนองคายในการตรวจสอบ ผัก ผลไม้ จากต่างประเทศที่จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น
" พบว่านับตั้งแต่เปิดเดินรถไฟจีน-ลาว มีการนำเข้าผัก ผลไม้ มาในไทยมากขึ้นโดยมีจำนวน 33 ใบขนถือว่าเป็นจำนวนมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนอนุญาตให้นำเข้าประเทศตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบหนังสือรับรองมาตรฐานระบบการผลิตอาหาร การสุ่มตรวจผักผลไม้โดยใช้เกณฑ์ความเสี่ยงที่อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
หากพบว่ามีผักผลไม้เคยมีประวัติตกมาตรฐานจะกักกันสินค้าไม่ให้เข้าประเทศ และตรวจสอบว่ามีสารเคมีอันตรายตกค้างหรือไม่ หากพบว่าไม่มีจึงจะตรวจปล่อยสินค้า แต่หากพบมีการปนเปื้อนสารตกค้างจะไม่อนุญาตให้นำเข้าและจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ขั้นตอนการตรวจสอบจะใช้เวลา 5-7 วัน พร้อมทำงานเชิงรุกโดยพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้นที่ด่านอาหารและยาหนองคาย เพื่อใช้คัดกรองความเสี่ยงของผักผลไม้ โดยจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าประเภทผักผลไม้ได้รวดเร็วขึ้นควบคู่กับการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค "
ด้าน พ.ต.อ.ณรัชต์พล ระบุ นับตั้งแต่มีการเปิดใช้รถไฟระหว่างประเทศจีน-ลาว มีการใช้บริการขนส่งทางราง 34 ใบขน 147 ตู้ มูลค่า 45 ล้านบาท มูลค่าที่ประเทศไทยส่งสินค้าออกไปจีน จำนวน 1,109,620 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12 เป็นการส่งออกผลไม้ 150,964 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14 แต่ไทยยังไม่สามารถส่งผลไม้ไปจีนด้วยเส้นทางรถไฟนี้ได้ในขณะนี้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการเป็นด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้ที่ด่านรถไฟโม่ฮาน
" เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการขนส่งสินค้า เนื่องจากการขนส่งทางรางจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการได้มาก ทำให้ต้องมีการปรับตัวถือให้โอกาสในการดำเนินการขนส่งสินค้า ผู้ประกอบการไทยต้องหาจุดแตกต่างจากคุณภาพสินค้าและบริการนำเสนอผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศในการแข่งขันทางการค้า และไม่อยากให้แตกตื่นจากการนำเข้าสินค้าไม่ใช่ในลักษณะการทะลักจนไม่สามารถควบคุมได้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพได้ "