รีเซต

“หมูเถื่อน” ทุบหมูไทย เสียหายทั้งประเทศ!

“หมูเถื่อน” ทุบหมูไทย เสียหายทั้งประเทศ!
TNN ช่อง16
22 ตุลาคม 2565 ( 15:01 )
93

ไทยประสบปัญหาหมูขาดแคลนและราคาสูงเป็นประวัติการณ์มาตั้งแต่ต้นปี 2565 สืบเนื่องจากปัจจัยหลัก คือ การแพร่ระบาดของโรค ASF ทำให้หมูแม่พันธุ์หายไปกว่า 50% ผู้เลี้ยงหมูจากเดิมมากกว่า 200,000 ราย เหลือ 107,000 ราย  ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้นถึง 30% น้ำมันแพงเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล (แม้จะปรับลงมาบ้างแต่ยังไม่นิ่ง) ทำให้เกษตรกรต้องแบกภาระต้นทุนทั้งอาหารสัตว์และปัจจัยป้องกันโรคเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง 


ราคาเนื้อหมูในประเทศที่สูงเกินกว่า 200 บาทต่อกิโลกรัม กลายเป็นโอกาสของพวกที่ชอบ “ทำนาบนหลังคน” หาประโยชน์บนความเดือนร้อนของคนอื่น ลักลอบนำเข้าหมูผิดกฎหมาย หรือ หมูเถื่อน หรือ หมูกล่อง จากหลายประเทศ เช่น เยอรมนี สเปน เนเธอร์แลนด์ บราซิล อาร์เจนตินา โดยนำเข้ามาทั้งชิ้นส่วนแช่แข็งและเครื่องใน ทำกำไรกันแบบเร่งด่วน ที่สำคัญเล็ดลอดการตรวจสอบ จับกุมของเจ้าหน้าที่ภาครัฐมาได้อย่างไร จะบอกว่าเป็นการสำแดงเท็จเป็นสินค้าอื่น...แล้วจับไม่ได้ ฟังดูแปลกๆ


เรื่องนี้ต้องขยายความ เพราะการนำเข้า-นำผ่านสินค้าทุกชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร ต้องได้รับการตรวจสอบจาก “กรมศุลกากร” อย่างละเอียดลงตราประทับรับรองว่าถูกต้องตามกฎหมาย จึงจะสามารถนำสินค้าออกจากท่าเรือหรือด่านศุลกากรได้ ที่สำคัญกรมศุลกากรมีเครื่องสแกนเนอร์ที่ทันสมัยและประสิทธิภาพสูงมาก สามารถสแกนเห็นสิ่งของหรือสินค้าแปลกปลอมที่ซุกซ่อนมาในตู้คอนเทนเนอร์ได้ทะลุปรุโปร่ง กลับบอกมีโอกาสที่จะตรวจไม่พบ


วันนี้ความล่าช้าในการปราบปรามหมูเถื่อน ทำให้พ่อค้าเปลี่ยนการขายเพื่อหนีการจับกุม จากที่เคยเสนอขายเป็นกล่อง แบบสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายและแสดงแหล่งนำเข้าเป็นหลักฐานว่าสินค้าตรงปก ก็เปลี่ยนรูปแบบคล้ายเงาะถอดรูป นำกล่องออกเหลือเพียงชิ้นส่วนหมูในถุงพลาสติก  หนักกว่านั้น ทำลายหลักฐาน เหลือเพียงเนื้อหมู ประหนึ่งว่าเป็นเนื้อหมูไทย นำมาวางขายในตลาดสดจนแยกไม่ออกว่าหมูไทยหรือหมูเถื่อน 

ความเดือดร้อนอย่างหนักของเกษตรกรขณะนี้ คือ หมูเถื่อน เกลื่อนเมือง เสนอขายเนื้อแดงที่ราคาแสนถูก 130-145 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่บวกค่าขนส่งและกำไรแล้ว นั่นหมายถึงต้นทางต้องราคาถูกกว่านี้อีก เทียบกับหมูไทยต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 98 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นราคาเนื้อแดงกิโลกรัม 200 บาท แล้วใครจะซื้อหมูไทย เมื่อขายหมูไม่ได้ตามที่วางแผนไว้ ผู้เลี้ยงจำต้องเลี้ยงหมูต่อไป ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนขึ้นอีก ทั้งที่เพิ่งนำหมูเข้าเลี้ยงหวังจะได้เงินไปทำทุนเลี้ยงต่อ แต่ต้องมาทุนหายและอาจถึงขาดทุนได้เพราะหมูเถื่อนปราบเท่าไรก็ไม่หมด


ความเดือนร้อนที่ผู้บริโภคมองไม่เห็น คือ สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และสารปนเปื้อนอื่นที่ติดมากับหมูเถื่อน ที่ไม่มีการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน อาจเป็นหมูมีปัญหา เป็นหมูโรคโดยเฉพาะโรค ASF ซึ่งยังมีการระบาดต่อเนื่องในยุโรป ประเทศต้นทางจึงตัดล็อตออกมาขาย เท่ากับคนไทยกินหมูขยะ ที่ต่างประเทศไม่กินเพราะรู้ดีว่ามีเชื้อโรคและได้ของแถมเป็นโรคมะเร็ง คนไทยพึงตระหนักไว้ว่าอย่าเห็นแก่ของถูก สุขภาพและอนามัยที่ดีต้องมาก่อน 


ที่ผ่านมา เกษตรกรชี้เป้าว่าช่องทางหลักที่หมูเถื่อนลักลอบเข้ามาไทย คือ ท่าเรือแหลมฉบัง ผ่านไป 2 เดือน กรมศุลกากร ยังตั้งท่าไม่เสร็จ ไม่เคยจับหมูเถื่อนได้ที่ท่าเรือแม้แต่ครั้งเดียว (เครื่องเอ็กซ์เรย์ คงเสียพร้อมกันหมด) มาจับได้นอกพื้นที่ตลอดบนรถขนส่งบ้าง ที่ห้องเย็นบ้าง แต่ไม่เคยเปิดเผยชื่อผู้กระทำผิดแม้ครั้งเดียวเช่นกัน ก็ได้แต่หวังว่าการปราบปรามหมูเถื่อนถูกจัดอยู่ในวาระเร่งด่วนของกรมฯด้วย 


ล่าสุด กรมปศุสัตว์ สั่งย้ายฟ้าผ่านายด่านกักกันสัตว์ชลบุรี เพราะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญกับการดูแลเกษตรกร จึงจำเป็นต้องยกระดับการปราบปรามหมูเถื่อนภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงให้แข็งแกร่ง และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดประสิทธิภาพ...ได้ข่าวมาว่าตอนนี้เจ้ากระทรวงฯ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ฟิตมากวางแผนปราบปรามให้ถึงสิ้นซาก ผู้เลี้ยงหมูปูเสื่อรอดูผลงาน


หากภาครัฐยังเฉยเมยกับเรื่อง “หมูเถื่อน” ไม่เร่งปราบปรามให้ราบคาบ ก็เท่ากับภาครัฐรู้เห็นเป็นใจให้ “หมูเถื่อน” เข้ามาทุบหมูไทยให้บอบช้ำมากขึ้น แทนที่เกษตรกรจะได้ลืมตาอ้าปากจากผลผลิตหมูรอบใหม่แต่กลับขายของไม่ได้ ขาดความมั่นใจเลิกเลี้ยงหมูไป นี่คือหายนะของประเทศ เพราะห่วงโซ่การผลิตไม่ได้มีแค่ฟาร์มเลี้ยง แต่ยังมีเกษตรกรพืชไร่โดยเฉพาะข้าวโพด ที่ต้องพึ่งพากันและกัน ซ้ำร้ายคนไทยไม่ได้กินเนื้อหมูปลอดภัยที่ผลิตได้ในประเทศ แต่ต้องกินยาพิษให้ตายผ่อนส่งโดยไม่รู้ตัว ขอเพียงภาครัฐยกการปราบปราบหมูเถื่อนให้สิ้นซากเป็นวาระเร่งด่วน ก็จะช่วยต่อลมหายใจผู้เลี้ยงรายย่อย-รายเล็กอีกกว่า 100,000 ราย ได้



ข่าวที่เกี่ยวข้อง